ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยพบแล้ว 6 คน "โอมิครอน XBB.1.16" อาการใหม่ "เยื่อบุตาอักเสบ"

สังคม
16 เม.ย. 66
11:38
4,212
Logo Thai PBS
ไทยพบแล้ว 6 คน "โอมิครอน XBB.1.16" อาการใหม่ "เยื่อบุตาอักเสบ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์จีโนมฯ เผยโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ที่กำลังระบาดในอินเดีย พบในไทยแล้ว 6 คน โดยมีอาการใหม่คือ "เยื่อบุตาอักเสบ"

วันนี้ (15 เม.ย.2566) ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมฯ ติดตามข้อมูลจาก GISAID ที่รวบรวมการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน ลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 6 คน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศอินเดีย

และ 1 ใน 6 คนพบเป็นรุ่นลูกของ XBB.1.16 คือ XBB.1.16.1 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนามของไวรัสหนึ่งตำแหน่งคือ “T547I” ต่างไปจาก XBB.1.16 แต่ศูนย์จีโนมฯ ยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกว่าผู้ป่วยที่เจอในไทยมีอาการอย่างไรบ้าง โดยได้ประสานกับกรมควบคุมโรคแล้ว

ขณะที่ข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่า อาการสำคัญของสายพันธุ์ XBB.1.16 คือ ในผู้ป่วยเด็กจะพบอาการ "เยื่อบุตาอักเสบ" ที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ฉะนั้นจะไม่มีหนอง และลักษณะของการอักเสบจะแตกต่างกัน

ส่วนอาการสำคัญคือ ไข้สูง หวัด ไอ จากนั้นจะเกิดเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่มีหนอง เพราะไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พบสายพันธุ์ XBB.1.16 ระบาดมากอย่างอินเดีย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ XBB.1.16 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น

สธ.คาดผู้ติดเชื้อโควิดสูงขึ้นหลังสงกรานต์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำเตือนประชาชนที่เล่นน้ำสงกรานต์และเดินทางช่วงเทศกาล ให้สังเกตอาการตัวเอง 7 วัน หลีกเลี่ยงเข้าใกล้ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 เนื่องจากกิจกรรมสงกรานต์ผ่อนปรนไม่ได้ตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าร่วมงาน

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 9-15 เม.ย.2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 435 คน เฉลี่ยวันละ 62 คน ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ แนะกลุ่มเสี่ยงสูงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะยังช่วยลดอาการรุงแรงหากติดเชื้อ

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลรามาธิบดี ออกหนังสือปรับแผนแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการและกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง ให้ผู้ป่วยรักษาด้วยตัวเอง กินยาตามอาการ 2 กลุ่มนี้จะหายได้ด้วยตัวเอง

กลุ่มที่ 3 มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคประจำตัว ปอดอักเสบ ให้ยาต้านไวรัส กินต่อเนื่อง 5 วันและให้แยกห้อง ส่วนกลุ่มที่ 4 มีอาการปอดอักเสบรุนแรง ออกซิเจนต่ำกว่า 94% ให้รักษาแบบผู้ป่วยใน กินยาต้านไวรัสและแพทย์ประเมินอาการอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอคาดสงกรานต์พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม แต่ยังรองรับได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง