ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มข.พัฒนา “เตียงอัจฉริยะ” ป้องกันแผลกดทับผู้สูงอายุติดเตียง

สังคม
13 เม.ย. 66
12:38
1,210
Logo Thai PBS
มข.พัฒนา “เตียงอัจฉริยะ” ป้องกันแผลกดทับผู้สูงอายุติดเตียง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เทคนิคการแพทย์ มข.อัปเกรด “เตียงอัจฉริยะ ช่วยพลิกตะแคง” ราคาเข้าถึงได้ ทางเลือกป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุติดเตียง พร้อมลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนผลิตใช้งานเอง และต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

13 เม.ย. วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ ล่าสุดคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนา “เตียงพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดแผลกดทับ” เวอร์ชัน 3 สำหรับผู้สูงอายุติดเตียงในชุมชนโดยเฉพาะขึ้น

ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบแล้ว หลังมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด เฉพาะใน จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุถึง 260,000 คน และมีผู้สูงอายุที่ติดเตียงถึง 20,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 5% นับเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เตียงพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดแผลกดทับ เวอร์ชัน 3 มีลักษณะพิเศษ คือ มีความสูง 60-70 เซนติเมตร มีผิวเบาะนุ่มและแน่น กระจายแรงกดได้ดี ลดอาการแผลกดทับที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้ โดยใช้วัสดุทำจากไม้และโลหะบางส่วน ซึ่งทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าจะช่วยพลิกตัวให้ผู้ป่วยผ่านสวิตช์ควบคุมที่ผู้สูงอายุสามารถกดใช้งานเองได้ หรือมีผู้ดูแลเพียงคนเดียวก็สามารถดูแลผู้สูงอายุติดเตียงได้ ใช้งบประมาณเพียง 10,000 บาท ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถเข้าถึงได้

ที่ผ่านมาชุมชนเข้าไม่ถึงเตียงที่มีคุณภาพ อย่างชุมชนบ้านโต้น อ.พระยืน จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุติดเตียงอยู่ถึง 12 คน แต่เตียงไม่เพียงพอ เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็จะนำเตียงนั้นไปเวียนกันใช้ หากมีเตียงที่ชุมชนเข้าถึงได้ ปัญหานี้ก็จะหมดไป

ขณะเดียวกันคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังเตรียมแผนลงพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเตียงดังกล่าวให้แก่ชุมชนในช่วงเดือน พ.ค.2566 เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตใช้งานเอง หรือนำไปต่อยอดสร้างรายได้กับตลาดและกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสังคมผู้สูงอายุในไทยด้วย

ด้าน ดร.วรวุฒิ ชมภูพาน อาจารย์วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ขอนแก่น คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ระบุว่า ผู้สูงอายุบางส่วนเป็นผู้ป่วยติดเตียงและต้องการได้รับการดูแล แต่ลูกหลานบางส่วนมีเวลาน้อยลง วิทยาลัยสาธารณสุขสิริธร จึงได้ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อคัดเลือกและส่งเตียงสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีคนไข้ได้รับเตียงไปใช้แล้ว 3-4 คน พบว่าผลตอบรับดีมาก คนไข้ไม่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับ

สอดคล้องกับ น.ส.หอมไกล ไชยพิมูล อายุ 57 ปี ชาวบ้าน อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ระบุว่า ที่ผ่านมาแม่วัย 96 ปี ซึ่งป่วยติดเตียงหลังหกล้มสะโพกหัก นอนอยู่บนพื้น ทุกครั้งจะตะแคงก็ปวดสะโพก จะลุกขึ้นนั่งก็ลำบาก เมื่อมีเตียงช่วยพลิกตะแคง ทำให้การดูแลทำได้ง่ายขึ้น และช่วยไม่ให้เป็นแผลกดทับ

คนดูแลก็อายุมากแล้ว ก้มก็ปวด คุกเข่าไปช่วยตะแคงก็เจ็บ มีเตียงมาก็ช่วยได้เยอะ ช่วงที่มีธุระด่วนต้องออกไปข้างนอก คุณแม่ก็กดสวิตช์พลิกตัวเองได้ บ้านอื่นที่ไม่มีเตียง เห็นเขาเป็นแผลกดทับกันหลายคน ก็อยากให้เขาได้ใช้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง