ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยูนิเซฟรายงานพบเด็กไทยเผชิญ “ความเสี่ยงสูง” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภัยพิบัติ
28 มี.ค. 66
16:44
618
Logo Thai PBS
ยูนิเซฟรายงานพบเด็กไทยเผชิญ “ความเสี่ยงสูง” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เด็กไทยใน 5 จังหวัด เผชิญความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ

วันนี้ (28 มี.ค.2566) รายงานการศึกษาของยูนิเซฟ ซึ่งจัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ ระบุว่า เด็กในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเด็กในจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ได้แก่ จ.อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส คือกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงสุด

การศึกษา การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย เป็นรายงานฉบับแรกในประเทศไทย ที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กเป็นการเฉพาะ โดยจำแนกตามจังหวัด รายได้ ความพิการ และอายุ

รายงานดังกล่าวยังนำเสนอดัชนีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศของเด็ก (Child-Sensitive Climate Risk Index) ซึ่งสะท้อนปัจจัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ อากาศร้อนจัด ความหนาวเย็น น้ำท่วม ภัยแล้ง

รวมทั้งการมีสถานบริการสุขภาพและบริการสังคมในแต่ละจังหวัด เพื่อสนับสนุนภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจในการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและชุมชน

รายงานดังกล่าวระบุว่า ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในประเทศไทย คือ ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และอากาศร้อนจัด ซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การแพร่กระจายของเชื้อโรค และความไม่มั่นคงทางอาหาร

ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ พัฒนาการ และความเป็นอยู่ของเด็ก ซึ่งมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากพวกเขามีระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่อ่อนแอกว่า อีกทั้งยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นอยู่โดยรวม

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้ เราเห็นผลกระทบของน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่นมลพิษ และสภาพอากาศร้อนจัดในประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก และกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ทำให้เด็ก ๆ เสี่ยงที่จะไม่สบาย ขาดเรียน หรือเข้าไม่ถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็น

ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การขาดสารอาหาร ความเครียด และความตื่นตระหนก หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตได้ เราอาจพูดได้ว่าภาวะเหล่านี้กำลังพรากอนาคตของเด็ก ๆ ไป อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้จะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิทธิเด็ก แต่กลับยังไม่ได้รับความสนใจและการแก้ไขเท่าที่ควร

รายงานดังกล่าว ระบุว่า เด็กแต่ละกลุ่มกำลังเผชิญผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเด็กจากครอบครัวยากจน เด็กในชนบท เด็กพิการ และเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน คือกลุ่มที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

รายงานของยูนิเซฟเมื่อปี 2564 จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงสุดต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ รายงาน The Coldest Year of the Rest of their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ของยูนิเซฟ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่า

ในปี 2563 เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในประเทศไทย 10.3 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 75 ของเด็กทั่วประเทศ ต้องเผชิญคลื่นความร้อนที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น และหากยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนสูงบ่อยครั้งขึ้นและยาวนานขึ้นภายในปี 2593

รายงานการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย ได้เสนอแนะแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเด็กในประเทศไทย ดังนี้

นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องให้ความสำคัญกับเด็ก โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องมีมาตรการที่จะปกป้องพวกเขาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม

ส่งเสริมความตระหนักรู้ ความรู้ และทักษะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่ากำลังได้รับผลกระทบอย่างไร และจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างไร

เสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง ผ่านการเสริมสร้างความรู้และทักษะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และการตอบสนองต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาระบบเตือนภัยและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิผลและทันต่อเหตุการณ์ ที่ทุกคนรวมทั้งเด็กในกลุ่มเปราะบางที่สุด สามารถเข้าถึงและปฏิบัติตามได้ง่าย

สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตัวเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง