แต่ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวของตำรวจถูกตีแผ่ในสังคมมากยิ่งขึ้น ทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมของกลุ่มนักธุรกิจสีเทาของชาวจีน การเอื้อผลประโยชน์ หรือการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทำให้คนต่างชาติอยู่ในไทยได้นานขึ้น แต่แม้ว่าตำรวจเหล่านี้จะถูกจับดำเนินคดีไปบ้างแล้ว ก็ยังเกิดขึ้นอีก
คดีล่าสุดที่ตำรวจสืบสวน บก.ตม.1 ถึง 5 นาย เข้าไปอุ้มตัวนักธุรกิจชาวจีนเพื่อไปเรียกเอาทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลดิจิทัลตีเป็นเงินไทยว่า 10 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 เกิดขึ้นที่หน้าบ้านเช่าใน ซอยประชาสงเคราะห์ 2 ย่านดินแดง
วันดังกล่าวชายชาวจีนคนนี้ได้ให้ล่ามแปลภาษาของเขาไปทำเรื่องต่อวีซ่า ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยเมื่อถึงเวลานัดหมาย มีเพื่อนชาวจีนของชายคนนี้เดินทางไปด้วย โดยที่เขาไม่ได้เดินทางไปด้วยตัวเอง แต่เมื่อไปถึงที่ทำการ ตม. พบว่าเอกสารไม่ครบถ้วน เขาจึงต้องย้อนกลับมาที่บ้านพักอีกครั้ง

ระหว่างนั้นมีกลุ่มชาย 2-3 คน ขับรถเข้ามาที่หน้าบ้านพัก และทำท่าจะเข้าไปพูดคุยกัน ก่อนที่จะมีชายอีกคนเดินออกจากรถเก๋ง ที่จอดอยู่ใกล้กัน
ตามคำให้การของผู้เสียหายที่เป็นล่ามแปลภาษา บอกว่า หลังจากนั้นเธอและชายชาวจีนที่ชื่อ “ตี่หลุง” ถูกอุ้มตัวขึ้นรถยนต์ไปขับวนอยู่ 4-5 ชั่วโมง และอ้างตัวว่าเป็นตำรวจ พร้อมทั้งเรียกเงินสกลุดิจิทัลที่นายตี่หลุงมีอยู่ แลกกับการปล่อยตัว จนในที่สุด นายตี่หลุงก็ยอมจ่ายเงินไป กลุ่มผู้ก่อเหตุจึงขับรถมาส่งที่บ้านโดยที่ทั้ง 2 คน ปลอดภัย
หลังเกิดเหตุผู้เสียหายผู้หญิงที่เป็นล่าม ได้แยกกลับบ้านโดยที่ไม่สามารถติดต่อนายตี่หลุงได้อีก จนสุดท้ายมาทราบว่า เดินทางกลับไปที่ประเทศจีนแล้ว จึงยิ่งวิตกกังวล และกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับตัวเองในภายหลัง จึงตัดสินใจมาแจ้งความให้ดำเนินคดีที่ สน.ดินแดง

คดีนี้ตำรวจสืบสวน สน.ดินแดง และตำรวจสืบสวนนครบาล ดำเนินการสืบสวนในทางลับ มาสักพักหนึ่ง จนเกิดเป็นข่าวในวันที่ 20 มี.ค.2566 และก็ยืนยันได้ว่า ผู้ที่ร่วมก่อเหตุเป็นตำรวจสังกัดตำรวจสืบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เช้าวันที่ 21 มี.ค.2566 ตำรวจสน.ดินแดง จึงนำหลักฐานที่มีไปขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกหมายจับผู้ต้องหาที่เป็นตำรวจ 4 นาย คือ
1.พ.ต.ต.สรวิศ อินทร์ลับ สว.กก.สส.บก.ตม.1
2.พ.ต.ต.จิรภัทร บุญนำ สว.กก.สส.บก.ตม.1
3.ร.ต.ท.สุริยะ รุกขชาติ รองสว.สส.บก.ตม.1
4.ด.ต.พีรศักดิ์ ยิ้มไพบูลย์ ผบ.หมู่ กก.สส..บก.ตม.1
โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ, ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นฯ และร่วมกันข่มขืนจิตใจผู้อื่นฯ โดยที่ไม่มีข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์ เนื่องจากผู้เสียหายที่มาแจ้งความเป็นเพียงล่ามที่ถูกอุ้มตัวไปด้วย แต่ไม่ได้เป็นคนที่เสียทรัพย์สินให้กับผู้ต้องหาเหล่านี้

คดีนี้พนักงานสอบสวนต้องเดินทางไปที่ศาลถึง 2 ครั้ง เนื่องจากในช่วงเช้าศาลยังไม่ออกหมายจับให้ ทำให้พนักงานสอบสวนต้องมาทำสำนวนใหม่ และนำหลักฐานเพิ่มเติมไปให้ กว่าศาลจะออกหมายจับให้กับตำรวจเพื่อนำไปดำเนินคดีก็ถึงช่วงค่ำในวันที่ 21 มี.ค.2566
แต่ตำรวจที่มีรายชื่อในนี้จำนวน 3 นาย ถูกกักตัวอยู่ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ไว้ก่อนแล้ว เมื่อหมายจับออก ก็ถูกส่งตัวมาดำเนินคดีที่ สน.ดินแดง ในเวลาประมาณ 5 ทุ่มของวันนั้นทันที มีเพียง พ.ต.ต.จิรภัทร ที่ยังหลบหนี โดยที่ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ไปสอบถามกับหนึ่งในตำรวจที่อยู่ในชุด ได้รับคำตอบว่า
ไม่ได้ทำครับ อยู่ในชุดจับกุมเป็นการตรวจสอบต่างด้าว Overstay ไม่ได้จับ ตรวจสอบแล้วเป็นคนไทยจึงปล่อยตัวไป ไม่ได้เรียกรับเงิน ตอนนี้เครียดว่าจะถูกดำเนินคดี
หนึ่งในตำรวจที่ถูกกล่าวหา
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เปิดเผยว่า คดีนี้นอกจากจะมีตำรวจเกี่ยวข้องแล้ว ยังพลเรือนเกี่ยวข้อง ที่เป็นบุคคลชี้เป้าอีก 1 คน ได้ให้ชุดสืบสวนติดตามมาดำเนินคดีแล้ว พร้อมยืนยันว่า ตำรวจที่กระทำความผิดก็จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และผบ.ตร. มีคำสั่งให้ต้นสังกัดสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว พร้อมกับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยกับผู้บังคับบัญชาของตำรวจทั้ง 4 นาย ว่า มีการปล่อยปละละเลยหรือไม่ พร้อมระบุว่า คดีนี้ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก

ส่วนประเด็นของนายตี่หลุง ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้ก็ยังพบว่า มีความผิดในเรื่องการสวมบัตรประชาชนคนไทย โดยจากการตรวจสอบพบว่า ถือบัตรประชาชนของคนที่ชื่อ “สาโรจน์ ทองค้าไม้” ชาว จ.สมุทรปราการ ซึ่งอายุไม่ตรงกัน
“คนจีนเนี่ย เดี๋ยวก็ต้องตรวจสอบ ตอนนี้หนีออกนอกประเทศไปแล้ว เราต้องมาดูว่าคนจีนมีความผิดอะไรตำรวจชุดนี้ถึงไปรีดเงินเขาได้ และยอมจ่าย 10 ล้าน ต้องไปดูว่าอยู่ในประเทศผิดกฎหมายหรือไม่ วันนี้เรื่องแบบนี้มีไม่กี่อย่าง เช่น อยู่ในประเทศผิดกฎหมาย สวมบัตร มีบัตรปลอม เป็นจุดอ่อนทำให้เจ้าหน้ารัฐเอาสตางค์ เจ้าหน้าที่รัฐแทนที่จะบังคับใช้กฎหมายเสียงเอง ก็ไปเอาตังค์แทน” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.
การสอบสวนตำรวจทั้ง 3 นาย ได้สอบสวนตลอดทั้งคืน และมี ร.ต.ท.ประวิต พลจังรีด รอง สว.สส.บก.ตม.1 เข้ามามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ในชุดเดียวกับนายตำรวจก่อนหน้านี้ ทำให้พนักงานสอบสวน ได้ไปขอหมายจับเพิ่มในช่วงเช้าวันที่ 22 มี.ค. 66 จากนั้นก็ถูกส่งตัวไปฝากขังก่อนในช่วงเย็น และศาลก็ไม่ให้ประกันตัว
พล.ต.ต.อัฎธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 เปิดเผยถึงผลการสอบสวนผู้ต้องหา โดยทั้งหมดยังให้การ “ภาคเสธ” โดยยอมรับว่าออกไปปฏิบัติหน้าที่จริง แต่ไม่ได้เรียกทรัพย์กว่า 10 ล้านบาท ตามที่ถูกกล่าวหา แต่บางส่วนก็ให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก

นอกจากนั้นยังมีการติดตามตัว พ.ต.ต.จิรภัทร ที่ยังหลบหนี รวมทั้งผู้เสียหายชาวจีนที่จะต้องเข้ามาให้ปากคำกับตำรวจเพิ่มในความผิดเกี่ยวกับการรีดทรัพย์
“พยานหลักฐานที่เรามีอยู่ก็เอาเข้าสำนวนไว้หมดแล้ว ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไรก็ได้ให้ไปแก้ข้อกล่าวหาเอา ส่วนเรื่องการโอนเงินก็พบร่อยรอยอยู่ แต่ขอให้อยู่ในสำนวนไม่ขอเปิดเผย ตอนนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดินแล้ว ส่วนเรื่องกรรโชกทรัพย์ แม้ว่าผู้เสียหายจะยังไม่แจ้งความแต่หากพนักงานสอบสวนสอบการกระทำความผิดไปถึงก็ดำเนินคดีได้ทั้งหมด” พล.ต.ต.อัฎธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1
การประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามตัว พ.ต.ต.จิรภัทร ที่ยังหลบหนี จนญาติติดต่อมาว่า จะขอเข้ามอบตัวในวันที่ 24 มี.ค. โดยสาเหตุที่ต้องหนีไปก่อนเพราะต้องการไปตั้งหลักหาทนาย และเตรียมหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว และยังเครียดกับการถูกออกหมายจับ
จนสุดท้ายก็ติดต่อขอเข้ามอบตัวช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. โดยได้ประสานผ่านชุดสืบสวนให้ไปรับตัวที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งย่านพัทยาเหนือ จ.ชลบุรี จากนั้นตำรวจก็นำตัวมาสอบสวนที่ สน.ดินแดง ทันที ซึ่งก็ยังให้การปฏิเสธ ส่วนแฟนสาวที่อยู่ด้วยกัน ก็ถูกศาลแขวงดอนเมืองออกหมายจับในข้อหา ช่วยเหลือและให้ที่พักพิงกับผู้ต้องหา และถูกส่งตัวดำเนินคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น. ก็ยืนยันว่า ชุดสืบสวนมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดได้ โดยเฉพาะร่องรอยของเส้นทางการเงินของผู้เสียหายที่โอนมาให้กับผู้ต้องหา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้มากนัก เพราะจะเสียรูปคดี ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาที่ยังไม่มีข้อหาเกี่ยวกับทรัพย์ ก็ยังอยู่ระหว่างสืบสวนว่ามีความเชื่อมโยงไปถึงอย่างไร
“ณ ตอนนี้ยังให้การปฏิเสธ แต่ว่าเรามีหลักฐานกับสิ่งที่เขาพูดมาก็อยู่ในสำนวนการสอบสวน การโอนเงินต่างๆ กว่า 10 ล้านบาท เรามีร่องรอยหลักฐานอยู่ในสำนวนยังขอปกปิดข้อมูล ยืนยันว่าพยานหลักฐานเพียงพอ การแจ้งข้อกล่าวหาของผู้เกี่ยวข้องในคดีจะแยกกันเป็นสองส่วน คือ ส่วนของผู้เสียหายที่พบทำผิดเรื่องสวมบัตรประชน และคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ แม้ว่าผู้เสียหายยังไม่มาแจ้งความ แต่ตำรวจก็สามารถแจ้งข้อกล่าวหาเองได้ หากพบพยานหลักฐานเพิ่มเติมกับข้อหาที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการต่อ” พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น.

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก็แสดงความเห็นถึงสาเหตุที่ตำรวจต้องไปอุ้มรีดทรัพย์ผู้ต้องหา ก็เพื่อผลประโยชน์ เพื่อหาเงินเอาไปวิ่งเต้นตำแหน่งในหน้าที่การงาน ซึ่งหากไม่รับเงิน หรือไม่ทำตามคำสั่งจากเจ้านาย โอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การเงินก็จะน้อยลง แต่หากทำตามโอกาสเติบโตก็จะมีสูง และเป็นสิ่งที่ได้เพิ่มจากเงินทองที่เข้ากระเป๋า
การรีดทรัพย์ของตำรวจมีมานานแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2500 จะได้ยินว่า มีนักเลงเกิดขึ้นทั่วประเทศที่ตั้งเป็นแก๊งอันธพาล กลุ่มพวกนี้ก็มักจะมีตำรวจเป็นผู้ให้การสนับสนุน คุ้มกัน หรือสร้างมุ้งให้กับเครือข่ายนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นนักวิชาการที่ได้สำรวจและวิจัย ก็มักจะเห็นว่า “องค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่มีคอร์รัปชันเชิงระบบอย่างแน่นหนา เป็นองค์กรที่ใครเข้าไปแล้วไม่โกง อยู่ไม่ได้”
ส่วนสาเหตุที่ตำรวจจะเลือกกลุ่มผู้ต้องหาเป็นเหยื่อ ก็เพราะด้วยความมีอำนาจ และอิทธิพลที่มีอยู่เยอะ ประชาชนที่กระทำผิดก็จะรู้สึกกลัว ไม่อยากยุ่งกับตำรวจ โดยเฉพาะเมื่อถูกข่มขู่ว่าจะหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน และความไม่รู้กฎหมาย ก็จะเป็นอำนาจของตำรวจที่จะข่มขู่เพื่อรีดเอาทรัพย์จากผู้ต้องหา และเมื่อเป็นข่าวว่ากระทำผิด ก็มักจะเห็นการปกป้องของผู้บังคับบัญชา

“ทุกครั้งจะเห็นการปกป้องของผู้บังคับบัญชาของเขาก่อน จะมีการสอบสวนโดยบอกว่า จะทำไปอย่างตรงไปตรงมา ภายใน 30 วัน หรือย้ายไปทำงานที่อื่น แต่เมื่อเรื่องเงียบก็จะถูกลงโทษที่ไม่มาก เช่น การกักเวรยาม การตัดเงินเดือน และก็กลับมาในตำแหน่ง หรือในตำแหน่งที่สูงขึ้น ระบบพี่น้อง พวกพ้องเข้มแข็ง ด้านดีก็มี แต่ด้านร้ายมากกว่า” มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
ดร.มานะ ยังเห็นว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจ เหมือนจะใช่แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ต่างประเทศหากเกิดเรื่องขึ้นไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็จะมีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบ และอิสระจากตำรวจจริงๆ เราจะเห็นได้ว่าตำรวจมีการเกื้อกูลกันอย่างชัดเจน
อย่างคดีที่มีการอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวจีน จะเห็นได้ว่า มีการรับงานกันเป็นทอดๆ จากหน่วยหนึ่งไปอีกหน่วยหนึ่ง สุดท้ายคนที่กระทำก็ถูกโยกย้าย ซึ่งก็เห็นว่าไม่เพียงพอ หากเกิดปัญหาแบบนี้ผู้บังคับบัญชาก็ต้องรับผิดชอบไปด้วย เพราะเกิดขึ้นจากการกำกับดูแลไม่ดี

การปฏิรูปตำรวจผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะตำรวจยังเป็นองค์กรที่ใหญ่เทอะทะ ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากหน่วยงานภายนอก ทำให้เมื่อเป็นตำรวจแล้วถ้าไม่โกงก็อยู่ไม่ได้ และมีคอร์รัปชั่นเชิงระบบที่เข้มแข็งที่สุด อันนี้เรื่องจริง
นอกจากปัญหาเชิงระบบแล้ว บ่อยครั้งยังจะเห็นว่าตำรวจถูกแทรกแซงด้วยนักการเมือง เพราะนอกจากการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งแล้ว ตำรวจที่จะขึ้นตำแหน่งก็ต้องส่งเงินไปตา, กระบวนการ ไปจนถึงวงเงินมากๆ ขึ้นไปถึงระดับบนไปจนถึงนักการเมือง
“ไม่ว่า ผบ.ตร.คนไหนที่มาอยู่ในตำแหน่งใส่ใจกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง รวมไปถึงการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในหน่วยงาน ที่ผ่านมาก็จะมีนักการเมืองเข้ามากำกับ และฉวยโอกาสของตำรวจมาเป็นเครื่องมือของตัวเองในการบิดเบือน กลั่นแกล้งคู่ต่อสู่ทางการเมือง หรือคนที่ขัดแย้งผลประโยชน์ หรือบีบคั้นคนอื่นให้ได้ประโยชน์กับตัวเอง จึงอยากเห็น ผบ.ตร. สร้างการเปลี่ยนแปลงกับองค์กรนี้ โดยอาจจะต้องเริ่มจาก ร.ร.นายร้อยตำรวจ หรือสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างจริงจัง”
ดร.มานะ ยังเห็นว่า จากผลสำรวจเรื่องหน่วยงานไหนมีการคอร์รัปชันมากที่สุด อันดับที่ 1-2 ก็หนีไม่พ้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจเป็นเพราะคนไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม จนนำไปสู่ความขัดแย้งกันในที่สุด และในอนาคตหากยังไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คนก็จะไปรวมกลุ่มเรียกร้อง หรือให้ภาคประชาชนช่วยเหลือ ไม่หันหน้าเขาหารัฐเพื่อขอความช่วยเหลือ จนอาจจะทำให้สูญเสียระบบได้

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ ดร.มานะ ก็ยังเห็นว่าเป็นเรื่องยากเพราะที่ผ่านมาก็จะเห็นตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกให้กับผู้มีอิทธิพล และผู้บังคับบัญชาทำให้เห็นว่าสามารถคอร์รัปชั่นได้ ตำรวจชั้นผู้น้อยก็จะทำตาม และบางนายก็ถูกเจ้านายตบทรัพย์ไป ทำให้ต้องไปรีดไถ่จากผู้ต้องหา
การที่จะแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ก็คือการหยุดทำทั้งระบบของวงการตำรวจซึ่งเป็นเรื่องยาก ส่วนนักการเมืองก็เป็นตัวแปรสำคัญมาก ทำอย่างไรจึงจะกำจัดอำนาจอิทธิพลเถื่อนของนักการเมืองให้ออกจากวงการตำรวจได้ และท้ายที่สุดคนที่เป็นนักธุรกิจผิดกฎหมายยังเห็นช่องว่างของตำรวจจึงใช้เงินเข้าล่อเพื่อให้ธุรกิจดำเนินการไปต่อได้
รายงาน : เบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง