ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยานอวกาศญี่ปุ่น "ฮาคุโตะ-อาร์" เตรียมลงจอดบนดวงจันทร์ เป็นชาติที่ 4 ของโลก

Logo Thai PBS
ยานอวกาศญี่ปุ่น "ฮาคุโตะ-อาร์" เตรียมลงจอดบนดวงจันทร์ เป็นชาติที่ 4 ของโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จับตา "ญี่ปุ่น" เป็นชาติที่ 4 ของโลก นำยานขนส่งสัมภาระไร้คนขับ "ฮาคุโตะ-อาร์" (Hakuto-R) ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ภายในเดือน เม.ย. 2023 หลังจากที่เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์สำเร็จ เมื่อคืนวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ธันวาคม ปี ค.ศ. 2022 ยานขนส่งสัมภาระไร้คนขับจาก ispace บริษัทอวกาศเอกชนสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า "ฮาคุโตะ-อาร์" (Hakuto-R) ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX เพื่อสาธิตเทคโนโลยีการขนส่งสัมภาระไปยังดวงจันทร์ ซึ่งกำลังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ท่ามกลางการแข่งขันด้านอวกาศครั้งใหม่ระหว่างชาติต่าง ๆ ทั่วโลก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2023 ทางบริษัท ispace ได้ประกาศว่าตัวยาน "ฮาคุโตะ-อาร์" ได้เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์อย่างปลอดภัยแล้ว และจะมีการเตรียมตัวลดระดับลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ภายในเดือนถัดไป โดยยานอวกาศลำนี้ได้บรรทุกรถสำรวจดวงจันทร์ขนาดเล็กขององค์การอวกาศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปด้วย ซึ่งมีเป้าหมายในการสำรวจแร่ธาตุและทรัพยากรอื่น ๆ ที่น่าสนใจบนดวงจันทร์ ประกอบกับการนำ AI มาช่วยควบคุมรถสำรวจบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก

หากยานอวกาศ "ฮาคุโตะ-อาร์" ลงจอดได้สำเร็จ ญี่ปุ่นจะกลายเป็นชาติลำดับที่ 4 ของโลกที่สามารถลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้อย่างนุ่มนวล ตามหลังสหรัฐอเมริกา สภาพโซเวียต และจีน ในขณะที่ ispace จะกลายเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ทางบริษัท ispace ก็ได้วางแผนเตรียมตัวส่งภารกิจที่ 2 และ 3 ไปยังดวงจันทร์ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยในภารกิจที่ 2 จะเป็นการทดลองส่งรถสำรวจขนาดจิ๋วของ ispace เอง ส่วนภารกิจที่ 3 นั้น จะเป็นการทดสอบยานขนส่งสัมภาระลำใหม่ที่มีส่วนสูงเกือบ 3 เมตรและบรรจุสัมภาระได้มากกว่า 500 กิโลกรัม ซึ่งมีกำหนดการปล่อยตัวภายในปี ค.ศ. 2025 นี้ จึงนับได้ว่า ispace เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของบริษัทเอกชนที่ได้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในวงการอวกาศทุกขณะ ต่างจากในอดีตที่การสำรวจอวกาศนั้นล้วนมาจากทางฝั่งรัฐบาล

ที่มาข้อมูล: ispace , SPACE.COM
ที่มาภาพ: ispace
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง