วันนี้ (20 มี.ค.2566) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลงานสภา ผู้แทนราษฎร โดยคาดว่า น่าจะมีประกาศยุบสภาในวันนี้ 20 มี.ค.2566 ได้รายงาน สถานภาพของสภาฯ เป็นครั้งสุดท้าย
แรกเริ่มสภาฯมี ส.ส.จำนวน 500 คน และ ปัจจุบันในวันนี้เหลือ 393 คนหลังจากที่ศาลสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้ ส.ส.ต้องพ้นจากตำแหน่ง 11 คนรวมถึงยังมี ส.ส.จำนวน 3 คน ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีการเสียบบัตรแทนกัน
รวมถึงศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 4 คน กรณีคดีสนามฟุตซอล และยังมีกรณีที่ศาลสั่งให้ ส.ส.จำนวน 4 คน พ้นจากตำแหน่งและไม่มีการเลือกตั้งซ่อม นอกจากนี้ยังมี ส.ส.ลาออก ในห้วง 180 วัน และมีกรณีที่ ส.ส.เสียชีวิต 1 คน
นายชวนยังกล่าวว่า สภาฯได้ทำหน้าที่ผ่านวิกฤตการเมืองต่าง ๆ มาได้ ตั้งแต่ช่วงสภาเสียงปริ่มน้ำ และก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 สภาฯ ขยันทำงานจึงไม่มีกฎหมายค้าง และในช่วงโควิดหยุดประชุม 1 เดือนตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
แต่ช่วงท้ายหลังรัฐบาลเสนอกฎหมายมาอีกจนไม่สามารถนำองค์ประชุมได้ จึงได้ทำหนังสือแนะนำนายกฯ และเจ้ากระทรวงที่เสนอกฎหมายให้ช่วยรักษาองค์ประชุมเพื่อผลักดันกฎหมาย
แม้ว่าในช่วงท้ายองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้กฎหมายบางฉบับไม่สามารถพิจารณาได้ทันในสภาชุดนี้ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย
แต่ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจสภาอยู่ครบ เพราะไม่ได้มีง่าย ๆ ขณะเดียวกันยังได้แจ้งการทำงานของ ส.ส.ที่มีข้อหารือส่งไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกว่า 11,000 เรื่อง
กรณีวาระสภาฯ นายชวนแจงความเห็นส่วนตัวว่า ได้นั่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา 4 ปี ซึ่งข้าราชการประจำอาจจะเห็นว่า เป็นเรื่องแปลกที่ปกติประธานสภาฯ จะให้รองประธานทำหน้าที่แทนในห้องประชุม แล้วประธานสภาฯจะเดินทางไปเยี่ยมสภาแต่ละประเทศ
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมานายชวนบอกว่า ไม่มีโอกาสได้ไป เนื่องจากตั้งใจว่าจะทำหน้าที่ควบคุมการประชุมในสภาฯให้ถึงที่สุด และเชื่อว่าสภาชุดที่ 25 คงต้องการคำแนะนำ หลายเรื่องในทางปฏิบัติ ซึ่งสมาชิกก็ให้ความร่วมมือด้วยดีร้อยละ 99
โดยอ้างถึงผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันพระปกเกล้า ที่อภิปรายศึกษาเรื่องการแต่งกาย ในฐานะประธานสภาฯ จึงเตือนสมาชิกต้องทำตามข้อบังคับ และมีโครงการกำหนดหลักสูตรสภาชุดต่อไป เพื่อให้ ส.ส.ทราบภารกิจตามกฎหมาย จะได้ทำหน้าที่อย่างมีคุณภาพภายใต้เวลาที่จำกัด เช่น กระทู้ถาม มีสมาชิกหลายคนปรารภว่าใช้เวลามาก ไป และแสดงความยินดีที่สภาสามารถอยู่ได้ครบวาระ 4 ปี
ก่อนจะเน้นย้ำให้ 4 ปีของสภาฯ เป็นบทเรียนทางบวกและทางลบ เช่นทางบวกคือการดำรงการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารตามกฎหมาย และใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย
ส่วนสิ่งที่เป็นลบคือพฤติกรรมใดที่ไม่ถูกต้องหรือพฤติกรรมหาผลประโยชน์หรือพฤติกรรมใช้กรรมาธิการแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสม และหาผลประโยชน์อย่างที่เป็นข่าว รวมถึงพฤติกรรมที่เป็นภาระต่อกรรมการจริยธรรม ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน ที่เป็นปัญหาและไม่ได้เป็นข่าวในสายตาชาวบ้าน
พร้อมกันนี้ยังกล่าวขอบคุณการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภาที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่น ความไม่รับผิดชอบของนักการเมือง หรือความรับผิดชอบของนักการเมือง จะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งช่วยให้ประชาชนนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง หรือ หากประชาชนเลือกคนซื้อเสียงมาก็จะได้รัฐบาลซื้อเสียง หากเลือกคนดีมาก็จะได้รัฐบาลที่ดี
ซึ่งสภาจะทำโครงการบ้านเมืองสุจริต ด้วยคำว่าประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต ซึ่งสภาฯจะดำรงนโยบายนี้ต่อไป แม้ว่านายชวน หลีกภัย จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เพื่อประโยชน์ของอนาคตบ้านเมือง ซึ่งการจัดโครงการดังกล่าวจะมีผลให้เยาวชน และประชาชนเชื่อมั่นในเรื่องของความสุจริต อันจะทำให้ความเชื่อมั่นดังกล่าวมีผลไปถึงการเมืองไทย
นายชวนยังหยิบยกพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ว่า บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนดี ได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองเป็นปกติและเรียบร้อย ถึงไม่ได้ทำให้ทุกคนเป็นคนดีหากแต่ส่งเสริมให้เป็นคนดีและส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นอมตะวาจาทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต
นายชวน ยังฝากถึงสภาชุดใหม่คือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในทางบวก คือ เวลาในการทำหน้าที่ รวมถึงในส่วนที่มีปัญหาจะต้องแก้ไขต่อไป เช่นกระบวนการในการประชุมที่เสียเวลามาก บางเรื่องต้องแก้ไข
พร้อมกันนี้ ประธานสภายืนยันการทำหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรม ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และมติของอนุกรรมการที่เป็นอดีตอัยการน้ำดี เข้ามาทำหน้าที่ ไม่มีกรรมการชุดใหญ่ที่เป็นนักการเมืองเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไข และปฏิบัติตามข้อเสนอจากอนุกรรมการทุกเรื่อง