วันนี้ (15 มี.ค.2566) เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความกังวลไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อโดรนสอดแนมของสหรัฐฯ ตกในทะเลดำ โดยสหรัฐฯ ระบุว่ามีเครื่องบินรัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นับว่าเพิ่มระดับความเสี่ยงในการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ในสงครามยูเครน
การกระทบกระทั่งกันในลักษณะนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตามองสถานการณ์ในแถบนั้นวิตกมาตลอดว่าจะเกิดขึ้น จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายและมีสหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องในสมรภูมิอย่างโดยตรง
เหตุการณ์นี้จุดชนวนความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางสงครามในยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง
กองบัญชาการภาคพื้นยุโรปของกองทัพสหรัฐฯ เปิดเผยว่า อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน MQ-9 REAPER ของกองทัพ ถูกเครื่องบินขับไล่ Su-27 ของกองทัพรัสเซีย 2 ลำบินสกัดหลายครั้ง และทิ้งน้ำมันใส่โดรนและบินตัดหน้า ก่อนจะบินชนใบพัด จนส่งผลให้โดรนสอดแนมดังกล่าวตกในทะเลดำ
กองบัญชาการภาคพื้นยุโรปของกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า การกระทำของเครื่องบินรัสเซียเป็นการสกัดที่เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นมืออาชีพและไม่ปลอดภัย
ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า โดรนลำนี้บินอยู่ในน่านฟ้าสากล และกำลังปฏิบัติภารกิจด้านข่าวกรองเป็นการบินสำรวจและสอดแนมตามปกติ โดยคาดว่าเครื่องบินของรัสเซียน่าจะได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน
รัสเซียยืนยันเครื่องบินรบไม่ได้ชนโดรนสหรัฐฯ
ขณะที่กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ระบุผ่านบัญชีเทเลแกรม ว่า เช้าวันที่ 14 มี.ค. กองทัพอากาศรัสเซียตรวจพบโดรน MQ-9 ของสหรัฐฯ บินไปในทิศทางแถบชายแดนของรัสเซียเหนือทะเลดำใกล้แหลมไครเมีย โดยโดรนดังกล่าวบินโดยไม่เปิดเครื่องส่งสัญญาณแสดงตน (Transponder) ซึ่งละเมิดเขตน่านฟ้าที่กำหนดไว้ สำหรับการปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร
ดังนั้นรัสเซียจึงส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นบินเพื่อสำรวจผู้บุกรุก โดยไม่ได้ใช้อาวุธใด ๆ ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบิน และไม่ได้เกิดการชนกับโดรนลำดังกล่าว แต่โดรนลำนี้ตกเนื่องจากการเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน
สถานการณ์ในแถบทะเลดำตึงเครียดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 ที่รัสเซียผนวกรวมดินแดนไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ทำให้การเดินเรือและเดินอากาศในแถบนั้นของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสมาชิกนาโต เผชิญการสกัดกั้นจากเครื่องบินรบของรัสเซียที่บินเข้าใกล้หรือบินเฉียดมาหลายต่อหลายครั้ง
แต่เมื่อสงครามในยูเครนปะทุขึ้นเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว สิ่งที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ ภารกิจสอดแนมของสหรัฐฯ เพราะการช่วยเหลือยูเครนให้ได้ตลอดรอดฝั่งของสหรัฐฯ ตามที่ไบเดนประกาศไว้นั้นไม่ใช่แค่การส่งอาวุธให้รบกับรัสเซีย แต่สหรัฐฯ ยังมีภารกิจด้านข่าวกรอง และคอยส่งข้อมูลความเคลื่อนไหวของรัสเซียให้ยูเครนได้ทราบ เพื่อเตรียมตั้งรับการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงเตรียมการโจมตีโต้กลับ
แต่หลังเกิดเหตุล่าสุดนี้ จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังไม่ปริปากว่าจะมีมาตรการป้องกันอย่างไรให้ภารกิจสอดแนมไม่เสี่ยงภัยต่อการถูกดึงเข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งโดยตรงในอนาคต
สหรัฐฯ ประณามรัสเซียกระทำการไม่ปลอดภัย
John Kirby โฆษกด้านความมั่นคงทำเนียบขาว ประณามการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของรัสเซีย พร้อมระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมระบุว่า ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้ เคยเกิดเหตุการณ์ที่อากาศยานของรัสเซียบินเข้าใกล้อากาศยานและเรือของสหรัฐฯ มากเกินไปมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้นับว่ารุนแรงเป็นพิเศษ และย้ำว่า สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลการบินแก่รัสเซีย เพราะโดรนบินอยู่ในน่านฟ้าสากล
นอกจากนี้ ทางการสหรัฐฯ ยังเรียกตัวเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ เข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว