"การพัฒนาต่าง ๆ เราต้องสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น หรือให้คนในท้องถิ่นเข้ามาใช้ประโยชน์กับทรัพยากรเหล่านี้ได้ด้วย ผมเชื่อว่าคนอีสานอยากนั่งรถไฟความเร็วสูงไปหาลูกที่กรุงเทพฯ แต่จะทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงราคาค่าโดยสาร"
"อยากให้คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบ ให้กลับมาพัฒนาประเทศ ในเชิงการเกษตร เพื่อให้เกิดเกษตรยั่งยืน"
"อยากให้อนาคตของเรามีการกระจายอำนาจมากยิ่งขึ้น มีองค์ความรู้ ช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่ต้องรอภาครัฐเข้ามาช่วย"
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากคนในพื้นที่ผ่านแคมเปญ Post-election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ที่ไทยพีบีเอสและภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น เพื่อชวนมองไปข้างหน้า ถึงอนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น ซึ่งภาคประชาชนคาดหวังเห็นการเปลี่ยนผ่านในหลากหลายมิติ และเชื่อว่า อนาคตของประเทศจะดีกว่านี้ ซึ่งผ่านไปแล้ว 3 เวที
2 เวทีล่าสุดจัดขึ้นที่ จ.สงขลาเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา และที่ จ.ขอนแก่นเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ผ่านการใช้นวัตกรรมในการตั้งโจทย์ปัญหาเพื่อหาคำตอบและกระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อค้นหาฉากทัศน์ชวนมองภาพฝันอนาคตประเทศหลังการเลือกตั้งครอบคลุมใน 6 ประเด็น คือ เศรษฐกิจ รายได้,รัฐราชการความมั่นคง, การศึกษา,สุขภาพสาธารณสุข,สังคม พื้นที่การใช้ชีวิต,และสิ่งแวดล้อม
ทำให้ได้ภาพฝันที่หลากหลาย โดยประชาชนคาดหวังอยากเห็นการเปลี่ยนผ่านในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการผูกขาด และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น
ทั้งนี้ เวทีแรกของ Post-Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง จัดขึ้นที่พัทยาเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันชวนคิดภาพประเทศไทยในอีก 10 ปีต่อจากนี้ โดยจะทยอยจัดเวทีครอบคลุมทุกภูมิภาค รวม 8 เวที ก่อนนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมด ประมวลเป็นเหมือนนโยบายโดยประชาชน และเชิญนักการเมือง และประชาชน ตัวแทนภาคส่วนต่างๆจากหลากหลายอาชีพ ร่วมกัน Hack นโยบายภายในเวลา72 ชั่วโมง และออกแบบเป็นโปสเตอร์หนัง 3 เรื่อง เพื่อฉายภาพฝันอนาคตของประเทศ