ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศึกชิงคะแนนเสียง ชัยชนะบนภาระของประเทศ

การเมือง
9 มี.ค. 66
13:39
386
Logo Thai PBS
ศึกชิงคะแนนเสียง ชัยชนะบนภาระของประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ" รัฐบาลลุงตู่ ครม.ไฟเขียวเพิ่มค่าตอบแทน อสม.และ อสส.2,000 บาท

"พูดแล้วทำ" ค่าป่วยการ อสม.2,000บาท ได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว

ทั้ง 2 ข้อความด้านบน เป็น "motto" พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่นำมาเคลมผลงานเพื่อให้ใช้หาเสียงเลือกตั้ง ระหว่างรอประกาศยุบสภา นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหญ่

เช่นเดียวกับข้อความหน้าเฟซบุ๊กของนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคประชาธิปัตย์ "ครม.อนุมัติให้เพิ่มค่าตอบแทน อสม.จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ตามที่ สธ.เสนอ เริ่มงบปี 2567"

ก่อนที่ในวันถัดมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะออกมาตอกย้ำว่า เป็นผลงานรัฐบาล แต่พรรคประชาธิปัตย์ริเริ่มก่อน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เป็นการชิงไหวชิงพริบชิงคะแนนเสียงของ 3 พรรค คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์

หากย้อนกลับไปประมาณหนึ่งสัปดาห์ พรรคพลังประชารัฐของ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรครวมไทยสร้างชาติของ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาเกทับผลงานเรื่องบัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

หลัง ครม.ไฟเขียวบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และบัตรประชารัฐสวัสดิการใหม่ ให้กับผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 14.6 ล้านราย อนุมัติงบกลาง 9,140 ล้านบาท เปิดให้ยืนยันตัวตนตั้งแต่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะเริ่มใช้ 1 เม.ย.ที่จะถึงนี้

สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้ชาวบ้านจะคุ้นเคยเรียกว่า "บัตรลุงตู่" แต่เมื่อพรรคพลังประชารัฐ อ้างว่าบัตรดังกล่าวเป็นผลงานของนายอุตตม สาวนายน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ริเริ่มเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

"ประชาชนทราบดีว่า นโยบายต่างๆ มีขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ใครเป็นคนคิดริเริ่มและผลักดันจนเป็นรูปธรรม เพียงแต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกเรื่องจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าจึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะหิ้วเอานโยบายเหล่านั้น ติดตัวไปอยู่พรรคอื่นด้วย" นายอุตตม กล่าวบนเวทีปราศรัย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา

เมื่อพบว่าหลายนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ ทับซ้อนกับของพรรคพลังประชารัฐ และต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ "บัตรลุงตู่" นายธนกร วังบุญคงชนะ ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ จึงปรับแคมเปญทำต่อ "บัตรลุงตู่"เรียกใหม่ว่า "บัตรสวัสดิการพลัส"

ทั้งยังบลัฟกลับว่า "บัตรลุงตู่ เวอร์ชั่นใหม่" หรือ "บัตรสวัสดิการพลัส" จะให้สิทธิสวัสดิการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย เป็น 1,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ให้แบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ประกาศนโยบายเพิ่มเติมเงินสวัสดิการแห่งรัฐจากเดิม 200-300 บาทต่อเดือน เป็น 700 บาทต่อเดือน

หากมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 พรรคและ 2 ลุง "ป้อม-ตู่" จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะใช้กลยุทธ์นี้ในการแย่งชิงฐานเสียงจากประชาชนที่ใช้ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" เพราะฐานเดิมมีผู้ลงทะเบียน 13.2 ล้านคน การเปิดลงทะเบียนรอบใหม่จะทำให้ยอดผู้ลงทะเบียนเพิ่มเป็น 21 ล้านคน

จึงเป็นไปได้สูงว่า ขณะนี้ทั้งสองพรรคกำลังเปิดศึกผันแปรคะแนนโดยอาศัยผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นฐานคะแนนและหวังได้เสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะงวดเข้ามา

แต่ทว่าสงครามยังไม่จบ เพราะนโยบายเอาใจคนจน ยังมีอีกหลายพรรคและหลายตัวแปรที่จะมาแย่งคะแนนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรสวัสดิการพลัส รวมทั้งจากพรรคภูมิใจไทย ได้ซื้อใจ อสม.และ อสส.ไปรอล่วงหน้าไว้แล้ว

ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดยนายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคฯ ย้ำชัดบนเวทีปราศรัยที่ จ.ร้อยเอ็ด ว่า ไม่ยกเลิกบัตรคนจน แต่จะทำให้ดีกว่าเดิม โดยใช้รูปแบบใหม่ หาสวัสดิการมาให้ชาวบ้านเพื่อประหยัดรายจ่าย พร้อมประกาศนโยบายหลังการยุบสภาแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองอื่นมาลอกการบ้านไปใช้ประโยชน์

มีข้อสังเกตจากรายงานวิจัยเรื่อง "ข้อสังเกตและข้อห่วงใยนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566" ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า จากการรวบรวมนโยบายจาก 9 พรรค รวม 86 นโยบาย เฉพาะที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอ วันที่ 20 ก.พ.2566 พบอย่างน้อย 2 พรรคการเมือง ที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี

และหากรวมต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง โดยไม่นับนโยบายที่ซํ้ากัน จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท

แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมาใช้ มีจุดประสงค์ดีที่มุ่งแก้ไขความเดือดร้อนและปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่ยังมีหลายนโยบายที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว

มีคำถามว่าการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองที่ใช้กลยุทธ์ เกทับ-บลัฟแหลก-แจกเพิ่ม จะหาเงินมาจากไหน หรือแค่เรียกคะแนนนิยมเฉพาะในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง