วันนี้ (4 มี.ค.2566) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่า ไม่ใช่ควบคุมไม่ได้ แต่ลดความรุนแรงได้ในหลายพื้นที่ ขณะนี้จุดความร้อนที่เพิ่มในภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่อนข้างสูงและเกิดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 โดยในเขตป่ามีสูงถึง 75% ในจำนวนนี้มีพื้นที่เกษตรกรรม 10%
นายอรรถพล กล่าวว่า ช่วง 1 เดือน เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน ป่าไม้ ท้องถิ่น ทำงานหนักมาก เนื่องจากเกิดปัญหาพร้อมกัน ส่วนหนึ่งมาจากการสะสมของเชื้อเพลิง แม้จะทำแนวกันไฟ และชิงเผาก่อน แต่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่บางแห่ง ที่เป็นพื้นที่สูงชัน เช่น แม่ปิง แม่ตื่น อมก๋อย รวมทั้งที่สาละวิน แม่ฮ่องสอน และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ต้องเดินทางด้วยเรือเข้าไป
นอกจากนี้ พบจุดความร้อนขยายวงในพื้นที่ป่า จ.แม่ฮ่องสอน และหมอกควันข้ามแดนจากเพื่อนบ้าน ยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรง พร้อมฝากพี่น้องเกษตรกร เข้าไปเก็บของป่า เลี้ยงวัว หรือจงใจจุดไฟเพื่อกลั่นแกล้งขอให้หยุดพฤติกรรม เพราะเจ้าหน้าที่กระจายกำลังบังคับใช้กฎหมาย
เฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เกิดไฟป่าไปประมาณ 100,000 กว่าไร่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นไฟไหม้ผิวดิน ไม่ได้ทำให้ไม้ใหญ่เสียหาย
ปิดอุทยานเพิ่ม-สกัดไฟป่า
นายอรรถพล ยังระบุว่า กรมอุทยานฯ มีการปิดอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมทั้งหมด 12 แห่ง โดยปิดเฉพาะโซนเสี่ยง แต่ไม่ปิดจุดท่องเที่ยว จากการประเมินสถานกาณ์แนวโน้มจะรุนแรงต่ออีก 3 สัปดาห์
ที่ผ่านมานายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.สั่งการให้ยกระดับแล้ว มีศูนย์สั่งการส่วนหน้าที่เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก รวมถึงจัดทำวอร์รูมร่วมกับจังหวัด และให้อุทยานฯ มีอำนาจแบบซิงเกิลคอมมานด์ สามารถระดมสรรพกำลังในกรมทุกหน่วยมาช่วยระดมดับไฟ รวมทั้งนำเงินรายได้อุทยานไปเสริมการทำงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์รุนแรงเพราะเป็นช่วงหาเสียงหรือไม่ว่า อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการเมือง แต่ปีนี้หน้าแล้งมาเร็วและภัยแล้งจะยาวนานขึ้น เพราะปีนี้มีปรากฎการณ์เอลนิโญ ประกอบกับและเชื้อเพลิงสะสมมาก เมื่อเกิดไฟป่าจึงรุนแรง
ยันไม่เกี่ยวปัญหาโอนภารกิจให้ท้องถิ่น
ส่วนการโอนภารกิจไฟป่าให้กับท้องถิ่นส่งผลให้เกิดช่องว่างในการจัดการหรือไม่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ บอกว่า เรื่องของการถ่ายโอนภารกิจไฟป่า จะเป็นเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ยังเป็นภารกิจของกรมอุทยานฯ เหมือนเดิม โดยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยเตรียมที่จะจัดงบประมาณให้กับท้องถิ่น อาจจะไม่เพียงพอ เพราะบางองค์การบริหารส่วนตำบลไม่มีรายได้ จึงไม่มีงบประมาณช่วยเหลือด้านการจัดการไฟป่า อย่างไรก็ตามไม่ได้มีเรื่องของข้อจำกัดการใช้งบประมาณท้องถิ่นที่จะใช้ดับไฟป่า จึงทำให้ไม่มีปัญหาในส่วนนี้