วันนี้ (27 ก.พ.2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงทั้งแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลวันที่ 19-25 ก.พ.นี้พบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 204 คน ผู้ป่วยอาการหนัก 66 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 44 คน และผู้เสียชีวิต 9 คน แนวโน้มอยู่ในระดับคงตัว
นพ.โอภาส ระบุว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนเกิน 3 เดือน หรือไม่ได้ฉีดภูมิคุ้มกัน LAAB สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบติดเชื้อโควิด-19 ประปราย ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ยังรองรับได้
คาดการณ์ว่าอาจจะพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงสงกรานต์ และเปิดเทอมนี้
ดังนั้น จึงเน้นการสื่อสารให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ควบคุมโรค ฉีดวัคซีนโควิด หรือฉีด LAAB หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจตรวจคัดกรองด้วย ATK สวมหน้ากากขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น
ส่วนผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือ LAAB หากป่วยให้รีบเข้ารับการรักษา รวมทั้งให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ
สธ.ยังติดติดตามสายพันธุ์โควิด-19 นอกจากนี้ กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาสำหรับปี 2567 ทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยา เวชภัณฑ์ และการให้การรักษา
อ่านข่าวเพิ่ม คนแรก! เด็กกัมพูชาตายจากไข้หวัดนก H5N1
สั่งยกระดับรับมือไข้หวัดนก
นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศกัมพูชา และให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรค และคัดกรองผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในสถานพยาบาล เพิ่มการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในชุมชน โดยแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบ ดำเนินการสอบสวนป้องกันควบคุมการระบาดของโรค
กรณีที่พบผู้ป่วยทางเดินหายใจ ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนก หรือสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตาย หรือมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วัน หรือกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง ที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือพบผู้ป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุให้มีการคัดกรองผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตายด้วย
รวมถึงขอให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดน หรือจังหวัดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกจำนวนมาก ประสานความร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อซักซ้อมแผนการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก
หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสงสัยไข้หวัดนก หรือพบผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในพื้นที่ รวมทั้งพบสัตว์ปีกป่วยตายให้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์ อสม.ทันที และให้งดชำแหละหรือกินแบบไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กัมพูชาเร่งตรวจ "ไข้หวัดนก" หวั่นระบาดจากคนสู่คน