ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

2 เดือนป่วย "อุจจาระร่วง" 127,902 คน เฝ้าระวังเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ

สังคม
27 ก.พ. 66
15:15
1,166
Logo Thai PBS
2 เดือนป่วย "อุจจาระร่วง" 127,902 คน เฝ้าระวังเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ
กรมควบคุมโรคเผยตัวเลขผู้ป่วย "โรคอุจจาระร่วง" ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 23 ก.พ. พบแล้ว 127,902 คน เด็กวัยเรียนอายุ 2-15 ปีป่วยมากสุด

วันนี้ (27 ก.พ.2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์ "โรคอุจจาระร่วง" ในไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 ก.พ.2566 พบผู้ป่วยจำนวน 127,902 คน หรือประชากร 500 คน จะพบผู้ป่วย 1 คน โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดอยู่ในกลุ่มวัยเรียน 2-15 ปี มีจำนวน 49,971 ราย (ร้อยละ 39.07) รองลงมาคือ อายุมากกว่า 55 ปี จำนวน 14,680 คน (ร้อยละ 11.48) และ 25-34 ปี จำนวน 14,545 คน (ร้อยละ 11.37)

อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้ไทยมีอากาศแปรปรวน บางช่วงฝนตกชุก อากาศเย็น ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัส ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงรุนแรงได้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น

ผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วง หากถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อก จนเสียชีวิตจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

การรักษาเบื้องต้นให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) ไม่แนะนำให้ดื่มเกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย (ORT) เพราะมีน้ำตาลปริมาณสูง ซึ่งจะดึงเอาน้ำเข้าสู่ทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้น ทำให้ลำไส้บีบตัวและส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียมากขึ้น หากไม่มีสารละลายเกลือแร่ (ORS) สามารถทำได้เองโดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือแกงครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำสะอาด 750 ซีซี จิบทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายอุจจาระและอาเจียน

สำหรับเด็กที่ดื่มนมแม่ให้ดื่มต่อได้โดยไม่ต้องหยุด นมผสมให้ชงเจือจางลงจากเดิมสลับกับการดื่มสารละลายเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น น้ำแกง น้ำซุป หรือข้าวต้ม ไม่แนะนำให้กินยาหยุดถ่ายหรือยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด อาเจียนบ่อย ริมฝีปากแห้ง ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะไม่ออก ไม่กินอาหาร ไม่กินน้ำ นม สารละลายเกลือแร่หรือกินได้น้อยลง ไข้สูงหรือชัก ซึมลง อ่อนเพลีย ตาลึกโหล หายใจหอบลึก ในเด็กเล็กอาจมีกระหม่อมบุ๋ม ควรรีบไปสถานพยาบาล

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังขอให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัย ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สำหรับโรงเรียนหรือสถานศึกษาแนะนำให้เก็บตัวอย่างอาหารทุกมื้อ ระบุ วัน เดือน ปี ที่ปรุงประกอบให้นักเรียนรับประทาน ไว้ในตู้เย็นอย่างน้อย 1 วัน กรณีพบผู้มีอาการอุจจาระร่วง มีตัวอย่างอาหารส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุของเชื้อก่อโรคได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

อ่านข่าวอื่นๆ

คนแรก! เด็กกัมพูชาตายจากไข้หวัดนก H5N1

ป่วยจิต-ซึมเศร้าสถิติไทยพุ่ง 1-2%

คิวผู้ป่วยจิตเวช รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ล้นข้ามปีถึง ต.ค.67

ข่าวที่เกี่ยวข้อง