ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สคทช.กางไทม์ไลน์ One Map แก้ที่ดินทับลานกันออก 1.1 แสนไร่

สิ่งแวดล้อม
23 ก.พ. 66
16:50
1,526
Logo Thai PBS
สคทช.กางไทม์ไลน์ One Map แก้ที่ดินทับลานกันออก 1.1 แสนไร่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สคทช.กางไทม์ไลน์แก้พิพาทที่ดินทับซ้อนอุทยานแห่งชาติทับลาน-ส.ป.ก.เขตจ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยใช้แผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ร่วมกับหลักหมุดแนวเขตปี 2543 คาดต้องกันพื้นที่ออก 110,000 ไร่ คดีเก่า 552 คดีไม่ละเว้น

วันนี้ (23 ก.พ.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทางและมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เรื่องการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงไทม์ไลน์ดังนี้ 

รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินรัฐ โดยการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินรัฐใหม่ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ OneMap และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดำเนินการ

โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ที่มีรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ร่วมกับ สำนักงานป.ป.ท. กรมแผนที่ทหาร และหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินรัฐ ทุกหน่วยงาน แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มจังหวัด

ข้อมูล ระบุว่า ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐกลุ่มที่ 3 ได้พบกับปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการทับซ้อนกันของที่ดินรัฐตามแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี ที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ในอดีต สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐที่ไม่ชัดเจน โดยสามารถจำแนกปัญหาการทับซ้อน ได้ดังนี้

  •  เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกับอุทยานแห่งชาติทับลาน
  • ที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมบริเวณบ้านไทยสามัคคีกับอุทยานแห่งชาติทับลาน
  • โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (โครงการ พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (โครงการ คจก.) กับอุทยานแห่งชาติทับลาน

แนวเขตที่ดินปี 2543 พบที่ดินต้องถูกกันออก 2.7 แสนไร่ 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยการสำรวจและปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้ตรงตามสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ เมื่อปี พ.ศ.2543 มีการออกปฏิบัติงานสำรวจรังวัดแนวเขตอุทยาน การรังวัดหาค่าพิกัด GPS และมีการฝังหลักแนวเขตไว้ชัดเจน

ผลการดำเนินงานสรุปว่ามีพื้นที่ต้องกันออกจากแนวเขตอุทยาน 270,000 ไร่ และมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้ที่ต้องผนวกกลับมาเป็นอุทยาน 110,000 ไร่ (รวมพื้นที่ปรับลด 160,000 ไร่) แต่ไม่ได้ตราออกเป็นกฎหมาย เพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในส่วนที่มีการทับซ้อนแต่อย่างใด

เนื่องจากผลการปรับปรุงแนวเขต ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ รวมถึงในช่วงเวลานั้น มีการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการในปี 2545

ยันคดีเก่า 552 คดีไม่ละเว้นกฎหมาย 

ต่อมาการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 552 คดี เนื้อที่ประมาณ 12,527 ไร่ คณะอนุกรรมการนโยบายฯ ได้เน้นย้ำว่าไม่มีการละเว้นกับผู้กระทำความผิดหรือนายทุนที่เข้าไปครอบครองที่ดินรัฐ รวมถึงผู้ประกอบการรีสอร์ตที่อยู่ในเขตอุทยาน

การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม การดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนตามนโยบายรัฐบาลจะไม่มีผลต่อรูปคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ในระหว่างกระบวนการยุติธรรมหรือการพิจารณาของศาลแต่อย่างใด

โดยขอให้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินพิจารณาให้ความเห็นประกอบ เพื่อให้เกิดความรอบคอบต่อไป

กระทั่งในระหว่างปี 2554–2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่ และได้พิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2564 ได้รับทราบวินิจฉัยและข้อเสนอแนะ
ของผู้ตรวจการแผ่นดิน (กรณีปัญหาการถือครองที่ดินของชาวบ้านบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน)

โดยให้ดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อน โดยใช้แนวเขตที่ได้มีการสำรวจรังวัดร่วมกันของทุกภาคส่วนซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี 2543 และตรงกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่

นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน การบริหารจัดที่ดินและทรัพยากรดินตามแนวทาง คทช. กำหนดให้กระจายการถือครองที่ดินให้กับผู้ยากไร้หรือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ไม่มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินรัฐ ไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนที่บุกรุกหรือซื้อขายที่ดินรัฐ

รวมทั้งบริหารจัดการที่ดินรัฐตามศักยภาพการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ภายหลังจากการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของที่ดินแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานจะมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 20,000 ครัวเรือน

มติใช้ One Map-ถ้าผ่านครม.ให้จบภายใน 3 เดือน

ในการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินที่มี พลเ.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ตามที่ครม.ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ร่วมกับมติ ครม. เมื่อ 2 ก.พ.2564 ตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปมติดังนี้

  • เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี
  • เห็นชอบการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาของศาลแต่อย่างใด และกำหนดแนวทางการคุ้มครองการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย
  • เห็นชอบการดำเนินงานในพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ให้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก.จัดที่ดินให้กับประชาชนตามแนวทาง คทช. สำหรับพื้นที่ที่มีสภาพป่าที่ผนวกกลับ 110,000 ไร่ ให้ทส.พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม
  • หลังจากที่ครม.เห็นชอบ ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ และส.ป.ก. ดำเนินการยืนยันหลักหมุดแนวเขตพ.ศ.2543 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานจะต้องนำเรื่องเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินพิจารณาก่อนเสนอ คทช. และครม. 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"รัชฎา" ปัดเรียกรับผลประโยชน์ ขรก.กรมอุทยานฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง