พลังงานสะอาดจากก๊าซไฮโดรเจนกำลังเป็นที่นิยม แต่ต้นทุนในการผลิตนั้นค่อนข้างสูง นักวิทยาศาสตร์จึงมองหาวิธีการผลิตที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการที่ไม่รบกวนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลีย คิดค้นวิธีการเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นพลังงานไฮโดรเจนโดยไม่ต้องบำบัดน้ำทะเลก่อนด้วยต้นทุนที่ไม่สูงได้สำเร็จ
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากมหาวิทยาลัยแอดิเลด (University of Adelaide) ได้คิดค้นวิธีการที่ประหยัดต้นทุนในการแยกน้ำทะเลเพื่อผลิตไฮโดรเจนโดยตรง เป็นการพัฒนากระบวนการแยกก๊าซออกจากน้ำด้วยไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการแยกองค์ประกอบสารทางเคมี โดยปรับปรุงตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ โดยใช้สารประกอบจากโคบอลต์ (Cobalt Oxide) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในโลหะทนความร้อน แล้วเคลือบด้วยโครเมียม (Chromium Oxide) ซึ่งนิยมใช้ชุบกันสนิม มาทำการแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำทะเล
น้ำทะเลเป็นทรัพยากรที่แทบจะไม่มีที่สิ้นสุด และถือเป็นอิเล็กโทรไลต์ธรรมชาติ ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับภูมิภาคที่มีแนวชายฝั่งยาวและมีแสงแดดส่องถึง งานวิจัยนี้ได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหาในการใช้น้ำทะเลโดยตรงโดยไม่ผ่านระบบบำบัดและการเติมสารแอลคาไล และสามารถแยกน้ำทะเลธรรมชาติเป็นก๊าซออกซิเจนและไฮโดรเจนได้เกือบ 100% ด้วยตัวเร่งที่ประกอบด้วยสารหาง่ายและมีต้นทุนต่ำในเชิงพาณิชย์
หลังความสำเร็จในการวิจัยเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นพลังงานไฮโดรเจนโดยไม่ผ่านการบำบัดน้ำทะเล ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งความสนใจต่อไปที่การปรับขนาดของระบบโดยใช้อิเล็กโทรไลเซอร์ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ในกระบวนการเชิงพาณิชย์ เช่น การสร้างไฮโดรเจนสำหรับเซลล์เชื้อเพลิงและการสังเคราะห์แอมโมเนีย
ที่มาข้อมูล: interestingengineering, cleantechnica, goodnewsnetwork
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech