ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีนวัตกรรมต่าง ๆ มากมายที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นมาเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งนวัตกรรมบางส่วนนั้นเป็นไปแนวทางแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ มากกว่าที่จะเป็นการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ อย่างเช่น การสร้างเครื่องดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เป็นต้น
ล่าสุดกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยยูทาห์ (University of Utah) สหรัฐอเมริกา เสนอแนวคิดพ่นฝุ่นของดวงจันทร์ไปในอวกาศ เพื่อสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้โลกได้รับพลังงานแสงอาทิตย์น้อยลงประมาณ 2% ก่อนที่ฝุ่นผงดวงจันทร์ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกภายในเวลา 1 สัปดาห์ และจะมีการพ่นฝุ่นผงดวงจันทร์กลับเข้าไปใหม่อย่างต่อเนื่องทุก ๆ 1 ปี เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้อยู่ในสภาวะคงที่
นอกจากฝุ่นดวงจันทร์แล้วนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ก็ยังได้ศึกษาหาวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงอาทิตย์ในอาทิตย์ใกล้เคียงกันอย่าง ผงถ่านหิน และเกลือทะเล อีกด้วย แต่กลับติดปัญหาอยู่ที่ว่าการที่จะลดอุณหภูมิโลกลงได้นั้นต้องใช้ฝุ่นผงปริมาณมากกว่า 10 ล้านตัน ต่อการปล่อยไปอวกาศ 1 ครั้ง ซึ่งการขนส่งสัมภาระจากพื้นโลกไปยังอวกาศนั้นมีราคาแพงมาก
ในขณะที่การขนส่งสัมภาระจากพื้นผิวดวงจันทร์ไปยังอวกาศนั้นมีราคาถูกกว่ามาก เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ที่ต่ำกว่าโลกทำให้ตัวจรวดขนส่งไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงมากนัก อีกทั้งฝุ่นผงดวงจันทร์ยังหาได้ง่ายและกระจายตัวไปทั่วพื้นผิว ซึ่งกระแสการทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้ก็อาจเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก ที่จะได้ฝุ่นผงดวงจันทร์กลับมาเป็นผลพลอยได้จากการขุดเจาะอยู่เสมอ
ถึงกระนั้นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้กลับกล่าวว่าวิธีการของตนนั้นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเสียทีเดียว แต่เป็นการชะลอความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของมนุษย์จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดจากวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนต่างหาก ซึ่งการที่โลกของเรามีเวลารับมือกับภัยธรรมชาติมากขึ้น จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีเวลาปรับตัวที่จะโยกย้ายไปใช้พลังงานสีเขียว โดยที่ไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา
อย่างไรก็ดี การที่เราจะนำฝุ่นดวงจันทร์มาใช้เป็นร่มเงาบังโลกนั้น ยังต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการพ่นฝุ่นผงบนดวงจันทร์ออกจากพื้นผิว เนื่องจากจรวดขนส่งแบบดั้งเดิมนั้นไม่สามารถขนส่งฝุ่นผงไปยังอวกาศได้หลายล้านตันภายใน 1 เที่ยวบิน ประกอบกับการมีฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ให้มนุษย์ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมระบบอีกด้วย ซึ่งกว่าที่โครงสร้างสาธารณูปโภคเรียบร้อย ปัญหาปัญหาภาวะโลกร้อนก็อาจกลายเป็นวิกฤตที่สายเกินแก้ไปเสียแล้ว แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้อย่างเต็มตัวว่าการประยุกต์ใช้ฝุ่นดวงจันทร์นี้ก็อาจช่วยชีวิตผู้คนนับล้านได้เช่นกัน
ที่มาข้อมูล: Guardian
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech