วันนี้ (6 ก.พ.2566) เพจประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยแพร่ข้อมูลเรื่องภาษาของช้างป่า โดยระบุว่า เรื่องไม่ลับฉบับนักวิจัยรู้หรือไม่?
สัตว์สังคมอย่าง "ช้างป่า" ส่งเสียงหัวเราะ หรือแสดงความยินดีได้ ช้างป่าเป็นสัตว์สังคม และมีการสื่อสารกันได้หลายวิธี ทั้งการใช้งวงสัมผัสตัวกัน การส่งเสียง และการรับแรงสั่นสะเทือนโดยประสาทสัมผัสที่เท้า เป็นต้น
ช้างป่าสามารถ สื่อสารกันด้วยเสียงผ่านระยะทางไกลได้มากกว่า 10 กิโลเมตร เป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่ต่ำกว่าความถี่เสียงที่มนุษย์ได้ยิน เสียงของช้างป่าแต่ละแบบจะแสดงการสื่อสารหลายชนิด เช่น
- โฮก เสียงเรียกสมาชิกในฝูงมารวมกัน มักส่งเสียงในช่วงก่อนออกเดินทาง หากิน ขณะกําลังหากิน และขณะจะเดินกลับที่พัก
- แปร๋น เสียงแสดงอาการตกใจ มีหลายระดับความดัง และมีพฤติกรรมติดตาม ด้วยการหนีหรือการเข้าทําร้าย
- แอ๋งๆ เสียงแสดงอาการหงุดหงิดรําคาญ มักมีพฤติกรรมการส่ายหัวและ โยกตัวพร้อมกันไปด้วยก้นเอง
- เอ๊ก-เอ๊ก เป็นเสียงแสดงความยินดีหรือเป็นเสียงหัวเราะที่ช้างใช้สื่อสาร
- เสียงต่ำพร้อมแสดงปลายงวงแตะพื้นดิน แสดงว่ากําลังพบกับอันตราย
สำหรับการไล่แมลง และอาการคันของช้างป่า ช้างป่าจะไล่แมลงที่มารบกวนโดยใช้หางปัด และใช้งวงเป่าลมเพื่อไล่แมลง แต่หากแมลงมีจํานวนมาก มักใช้กิ่งไม้ปัดไล่บริเวณลําตัวในส่วนที่หาง และงวงปัดไม่ถึง เช่น สีข้าง ท้ายทอย หลัง ท้อง อาจใช้งวง สาดฝุ่น พ่นโคลนหรือน้ำ เพื่อไล่แมลงแทน หรือถูบริเวณที่คันกับต้นไม้ หรือเสาไฟฟ้าโดยเฉพาะบริเวณสีข้าง ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ขนาดใหญ่หรือเสาไฟฟ้าหักโค่นล้มหรือเอน
(คู่มือ: การติดตามและผลักดันช้างป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 2558)