วันนี้ (3 ก.พ.2566) นายสาธิต ตันติกฤตยา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เผยว่า ตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้พบ "วาฬบรูด้า" จำนวน 2 ตัว เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการออกสำรวจติดตามประชากรวาฬบรูด้าในพื้นที่ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อการจัดเก็บข้อมูลสถิติสัตว์ทะเลหายากรวมทั้งประชาสัมพันธ์ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนต่อการดำรงชีวิต จากเรือนำเที่ยวหรือกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ฯ

วันนี้เจ้าหน้าที่ได้สำรวจพบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ฯ รวม 3 ตัว จึงได้ตรวจสอบรายชื่อโดยเปรียบเทียบอัตลักษณ์กับฐานข้อมูลการจำแนกประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทย ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย 2 ตัวพบว่า เป็น "แม่วันดี" กับ "เจ้าวันรุ่ง" ซึ่งเป็นลูกที่เกิดเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2564 ส่วนอีกตัวยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลในอดีตพบว่ามีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่เฉลี่ย 1-2 ตัว ต่อปี จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการประกาศปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติ ในช่วงปี 2563 – 2564 ทำให้ระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้รับการฟื้นฟู ซึ่งในช่วงต้นปีจะเป็นฤดูกาลที่วาฬบรูด้าเข้ามาหากินอย่างต่อเนื่อง

ช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค.2564 พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ร่วม 4 ตัว คือ แม่วันดี เจ้าวันหยุด เจ้าอิ่มเอม และเจ้าเปรมปรีดิ์ และในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ.2565 พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่ร่วม 6 ตัว คือ เจ้าเปรมปรีดิ์ เจ้าสาคู เจ้าเมษา แม่สดใส และลูกชื่อเจ้าแสนดี และอีกตัวไม่ทราบชื่อ จึงเป็นที่น่าติดตามว่าจะมีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินเพิ่มเติมหรือไม่และจะเวียนว่ายหากินอยู่ในพื้นที่นานเท่าไหร่

นายสาธิต กล่าวว่า นอกจากจะชี้วัดได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติแล้ว ยังสะท้อนให้เกิดกระแสด้านการอนุรักษ์ การดึงดูดการท่องเที่ยว จึงต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมกันปฏิบัติตาม กฎ/ระเบียบ ตลอดจนข้อแนะนำของอุทยานแห่งชาติในการเดินเรือ การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวและอื่น ๆ เพื่อช่วยกันดูแลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าของท้องทะเลอ่าวไทยให้ยั่งยืนตลอดไป