วันนี้ (2 ก.พ.2566) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวถึงการยกระดับมาตรการเพื่อลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กทม.และปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ส่วนภาคเหนือ 17 จังหวัดเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน
ปัจจัยที่ทำให้ฝุ่นเกิดการสะสมตัวสูงขึ้น พบจุดความร้อน (Hotspot) ทั่วประเทศ 1,200 จุด โดย 15 จังหวัดที่มีจุดความสูง เช่น กาญจนบุรี ชัยภูมิ ตาก นครสวรรค์ ลพบุรี ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ นครราชสีมา ประกอบกับมีปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา
อธิบดีกรมควบคุมพิษ กล่าวอีกว่า จากการติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 พบว่า หากสภาพอากาศปิด บวกกับมีการเผาทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ตัวเลขกระโดดเกินค่ามาตรฐาน เช่น สถานการณ์ปกติภาคเหนือ หากฝุ่นในช่วงมาตรฐานเช่น กทม.-ปริมณฑล สถานการณ์ปกติค่าฝุ่นเฉลี่ย 35 มคก.ต่อลบ.ม. แต่ถ้าอากาศปิดไม่เผาเฉลี่ย 60 มคก.ต่อลบม. แต่ถ้ามีการเผา จะเพิ่มเป็นมากกว่า 90 มคก.ต่อลบม.จนมีค่าเกินมาตรฐานสีแดง
คาดการณ์ฝุ่น PM2.5 จะสัมพันธ์กับอุณหภูมิ เพราะเพดานการลอยตัวของอากาศต่ำ โดยฝุ่นจะยังสูงจนถึงวันที่ 4 ก.พ.นี้ จากนั้นที่ 5 ก.พ.นี้จะเริ่มลดลง และคลี่คลายในช่วงวันที่ 7 ก.พ.นี้
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า ขณะนี้คพ.มีการยกระดับฝุ่น PM2.5 มีการทำตามแผนระดับที่ 3 คือค่าฝุ่นตั้งแต่ 51-75 มคก.ต่อลบ.ม. เช่น ขอความร่วมมือ WFH ลดปริมาณการจราจรบนท้องถนน ลดการจราจร คุมฝุ่นในโรงเรียน และเข้มงวดการก่อสร้างและการเผาในที่โล่ง
อ่านข่าวเพิ่ม เช็กด่วน! กทม.เจอฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 3 เท่า มีผลต่อสุขภาพ
นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้จังหวัดงดการเผาในบางช่วงเวลาแล้ว ซึ่งแต่ละจังหวัดมีอำนาจเต็มควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรได้ ผ่านการใช้แอปพลิเคชั่น Burn Check ซึ่งใน จ.เชียงใหม่ใช้แล้ว 100% แต่บางจังหวัดใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงต้องประสานความร่วมมืออย่างเข้มงวดต่อไป เบื้องต้นปีนี้ภาครัฐตั้งเป้าลดจุดความร้อนลงให้ได้ร้อยละ 50-60
ปัจจัยหลักมาจากสภาพอากาศที่แล้งมากขึ้น เชื่อว่าจะควบคุมฝุ่นไม่ให้รุนแรงไปกว่าปี 2565 โดยวันที่ 1 มิ.ย.นี้จะปรับเปลี่ยนค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิมไม่เกิน 50 มคก.ต่อลบม. เหลือ 37.5 มคก.ต่อลบม. จะช่วยให้การบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยเข้มข้นขึ้น
กทม.ยังเผชิญฝุ่นจนถึง 4 ก.พ.นี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภาพรวม กทม. ยังต้องเผชิญสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จนถึงวันที 4 ก.พ.นี้จากสภาพอากาศปิด และลมต่ำมาก ทำให้ฝุ่นหมุนเวียนในกรุงเทพฯ ไม่ได้ระบายออก
นอกจากนี้ ยังพบว่า แหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากรถยนต์ และการเผาชีวมวลรอบนอก ซึ่งพบจุด Hot Spot ค่อนข้างสูงราว 1,200 จุดในเขตประเทศไทย ประกอบกับทิศทางลมเปลี่ยนจากลมตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นลมตะวันออก ทำให้การเผาจากเพื่อนบ้านยังประเทศไทย ทำให้หลายจังหวัดค่าฝุ่นสูง
กทม.ประกาศเตือนล่วงหน้ามาตลอด มีระบบเตือนภัยในโรงเรียนที่เข้มข้นขึ้น มีระบบ Line Alert สำหรับเตือนภัย ระยะสั้นต้องดูแลตตนเองก่อน สวมหน้ากากเมื่อออกพื้นที่โล่งแจ้ง
ผู้ว่าฯ กทม. ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทย มีแผนฝุ่นที่เป็นแผนแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ หากฝุ่นสูงเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ต่อเนื่องกัน 3 วันรวมพยากรณ์ ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ตามออกมา ก็ต้องผลักดันกันเรื่องนี้ด้วย เพราะลำพัง จะให้ กทม.ทำฝ่ายเดียวก็ไม่ไหว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทาง กทม.ได้พยากรณ์ว่า 1-3 ก.พ.จะมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน จึงให้หน่วยงานในสังกัด WFH ทันที
ไม่ปิดโรงเรียน-ให้ผอ.เขตคุมเผา
สำหรับโรงเรียนในสังกัด กทม.ตัดสินใจไม่ปิด เพราะอาจเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองที่ไม่สะดวกดูแลลูก แต่ขอให้เข้มงวดกับการสวมหน้ากากอนามัย อเมื่อต้องมาโรงเรียน การอยู่ในห้องปิด ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ให้ออกไปวิ่งเล่น ต้องเน้นย้ำห้ามทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง มีหน้ากากอนามัยแจ้งให้นักเรียน หากเด็กคนใดมาไม่ได้ ไม่เป็นไรให้หยุดเรียนในช่วง 2 วันนี้ได้
ทั้งนี้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต มีอำนาจประกาศเป็นเขตเดือดร้อนรำคาญ ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการเการเผาได้
อยากจะขอร้องไปถึงเรื่องธูป เทียน และการเผากระดาษเงิน-ทอง แต่คงบังคับมากไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความเชื่อ รวมทั้งกิจกรรมก่อสร้างที่ กทม.เป็นเจ้าของโครงการด้วย
นายชัชชาติ แนะว่าควรงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ช่วงนี้ตนเองก็หยุด หากออกกำลังกายกลางแจ้งต้องใส่หน้ากากยากในการสูดหายใจ หน้ากาก N95 ไม่ได้จำเป็นมาก เพราะหายใจยาก ราคาแพง อาจจะใส่หน้ากากอนามัยทั่วไป ก็สามารถกันฝุ่นได้แล้ว 60% หากใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้นอาจกันได้ถึง 80% ส่วนตัวก็ออกกำลังกายในห้อง วิดพื้น-จ็อกกิ้ง