ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีอยู่ 1 เทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงอย่างมาก คือ ShotSpotter ซึ่งทางการตั้งความหวังว่าจะมาช่วยลดอาชญากรรมจากปืนได้ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็อาจจะไม่แน่เสมอไป
ShotSpotter เป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งจะคอยตรวจจับเสียงปืน ก่อนที่จะส่งตำรวจลงพื้นที่จุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีระบบนี้ติดตั้งอยู่ในมากกว่า 130 เมือง ซึ่งรวมถึงในเมืองโอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เพิ่งเกิดเหตุกราดยิงไปเมื่อวานนี้ (24 ม.ค.2566) ด้วย
นับตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมาเกิดเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 40 คน โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เศษๆ เท่านั้น กลับเกิดเหตุกราดยิงไปแล้วถึง 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 19 คน
ขณะที่เหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เมืองโอคแลนด์เกิดขึ้นกลางปั๊มน้ำมัน แต่กลับไม่มีใครโทรแจ้งตำรวจ แต่ไม่เป็นไร เพราะด้วยระบบแจ้งเตือนผ่านเทคโนโลยี ShotSpotter ก็ทำให้ตำรวจทราบเหตุและสามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุได้ แม้ว่าเมื่อไปถึง จะเจอเพียงปลอกกระสุนตกอยู่ เพราะผู้บาดเจ็บถูกส่งไปโรงพยาบาลแล้วก็ตาม
ข้อมูลจากรายงานของทางการท้องถิ่นในเมืองโอคแลนด์ ชี้ว่าเมื่อปี 2020 ทั้งปี ระบบ ShotSpotter แจ้งเตือนตำรวจเกี่ยวกับเหตุจากการใช้ปืนมากถึง 6,053 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ มากกว่า 5 ,500 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 91 ของการแจ้งเตือนทั้งหมด เป็นเหตุการณ์ที่คนในพื้นที่ไม่ได้โทรแจ้งตำรวจ และตำรวจจะไม่มีทางทราบเลยว่าเกิดเรื่องขึ้น ถ้าไม่ได้มีการใช้งานเทคโนโลยีแจ้งเตือนที่ว่านี้
ขณะที่มาดูข้อมูลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งตีพิมพ์ในงานวิจัยเมื่อปี 2016 จะเห็นว่าสถิติไม่ต่างกัน โดยมีการแจ้งเหตุจากการใช้ปืนผ่านสายด่วนแจ้งเหตุ 911 เพียงแค่ร้อยละ 12.4 เท่านั้น และตัวเลขนี้ยิ่งลดลงไปอีก เมื่อเป็นการแจ้งเหตุในกรณีที่เจตนาใช้อาวุธปืนทำร้ายร่างกาย
งานวิจัยหลายชิ้น ชี้ว่าจริงๆ แล้ว ความรุนแรงจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นมากกว่าที่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 80 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีการโทรแจ้งตำรวจ ดังนั้น ทางการท้องถิ่นในหลายเมืองจึงหันไปหาตัวช่วยอย่าง ShotSpotter
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบนี้ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านจากชาวอเมริกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันพบความเคลื่อนไหวแล้ว ในกว่า 20 เมือง รวมถึงมีการเปิดตัวเว็บไซต์และเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องออนไลน์ เพื่อให้มีการยุติการใช้งานระบบนี้ได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนคัดค้านนั้น เราต้องมาดูที่การทำงานของเทคโนโลยีนี้
ShotSpotter มีอุปกรณ์สำคัญ คือ ตัวเซนเซอร์ที่จะถูกนำไปติดตั้งตามอาคาร เสาไฟฟ้า และจุดต่างๆ ซึ่งหากเกิดเหตุยิงกันขึ้น เซนเซอร์จะตรวจจับเสียงปืนได้ และสามารถคำนวณ เพื่อหาตำแหน่งของจุดเกิดเหตุ ก่อนที่จะส่งข้อมูลเสียงไปให้กับผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ติดตามเหตุของ ShotSpotter ทำการวิเคราะห์เสียงดังกล่าว
เมื่อแน่ใจว่าเป็นเสียงปืนจริงๆ ระบบจะแจ้งเตือนไปยังตำรวจ เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุทันที
Credit : Gunshot Detection - ShotSpotter
แม้จะฟังดูเหมือนดี แต่ระบบนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่า ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ เพราะเซนเซอร์ตรวจจับเสียงจะไปติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจถูกใช้ในการดักฟังได้
ขณะที่จุดที่จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ก็กลายเป็นอีกประเด็นร้อน เพราะเมื่อทางการท้องถิ่นจะใช้งานระบบนี้ ก็มักจะนำอุปกรณ์ไปติดตั้งในย่านที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูง ที่ตามปกติแล้วจะเป็นย่านชุมชนคนผิวดำ ผิวน้ำตาลและชาวอเมริกัน เชื้อสายละติน
จุดนี้ยิ่งเป็นการเพิ่มความตึงเครียดและนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสีผิว ท่ามกลางการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจต่อชาวอเมริกันกลุ่มนี้เป็นทุนเดิม
ผลการศึกษาในนครชิคาโกในช่วงกลางปี 2019-2021 ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหานี้ชัดเจนมากขึ้น โดยพบว่าร้อยละ 89 ของการแจ้งเตือนผ่านระบบนี้ ตำรวจที่ลงพื้นที่ไม่พบอาชญากรรมจากปืน ขณะที่อีกร้อยละ 86 ไม่มีรายงานการเกิดอาชญากรรม ทั้งๆ ที่ระบบแจ้งเตือนไปยังตำรวจ ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการตรวจจับและวิเคราะห์เสียงผิดพลาด
กลุ่มคัดค้านเทคโนโลยีนี้มีจุดยืนที่ชัดเจน คือ พวกเขามองว่า ShotSpotter ไม่แม่นยำ ราคาแพง อันตรายและไม่มีประสิทธิภาพในการลดอาชญากรรมจากอาวุธปืนได้อย่างที่โฆษณาเอาไว้ วิธีจัดการกับปัญหานี้อย่างยั่งยืน อาจจะอยู่ที่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง
วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์