นับตั้งแต่ยุค 90 เป็นต้นมาทฤษฎีที่ว่า เผ่าพันธุ์ของไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเพราะผลกระทบที่เกิดจากอุกกาบาตล้างโลกนั้น ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
เนื่องจากการค้นพบหลักฐานของหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์ที่มีชื่อว่า “ชิกซูลุบ” (Chicxulub) ในบริเวณ คาบสมุทรยูคาทาน ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งมีอายุตรงกับช่วงเวลาที่ฟอสซิลของไดโนเสาร์หายไปเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้วอย่างพอดิบพอดี
จนกระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2022 ผลงานวิจัยใหม่ได้เปิดเผยให้เห็นถึงการค้นพบร่องรอยหลุมอุกกาบาตอีกแห่งหนึ่งโดยบังเอิญ ในขณะที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งกำลังทำแผนที่ผืนแผ่นทวีปอเมริกาใต้ ด้วยวิธีการใช้คลื่นสะท้อนลงไปในแผ่นดิน คล้ายกับการทำอัลตราซาวนด์
โดยชั้นหินนี้ได้ถูกฝังกลบอยู่ใต้ชั้นหินตะกอนอีกทีหนึ่ง ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่อุกกาบาตตกใส่ในพื้นที่ที่เป็นทะเลใกล้ชายฝั่ง และปะทะเข้ากับพื้นหินตะกอนเบื้องล่าง ซึ่งก่อให้เกิดเป็นแอ่งหลุมใต้น้ำขนาดยักษ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะแรงกระเพื่อมจะนำพาตะกอนให้กลับมาฝังกลบตัวหลุมอีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นผืนแผ่นดินใต้ทะเลนี้ก็ได้ถูกยกขึ้นมาจากการเคลื่อนตัวของผืนแผ่นดินทวีปอเมริกาใต้
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตรวจสอบอายุของหลุมอุกกาบาตนี้ดูแล้ว ก็ยังพบว่าหลุมนี้มีต้นตอมาจากการปะทะของดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ราว 400 เมตร และมีอายุเก่าแก่กว่า 66 ล้านปี ในช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์หายไป เช่นเดียวกันกับหลุมอุกกาบาตชิกซูลุบ ซึ่งอาจแสดงถึงความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างทั้งสองหลุมนี้ โดยมีสมมติฐานอยู่ 3 ข้อด้วยกันที่นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอไว้ ได้แก่
- หลุมอุกกาบาตที่ค้นพบใหม่ลูกนี้อาจแตกตัวมาจากดาวเคราะห์น้อยชิกซูลุบอีกทีหนึ่ง ในขณะที่กำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้โลก
- อาจเป็นกลุ่มของอุกกาบาตที่เดินทางออกมาจากแถบดาวเคราะห์น้อยในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ซึ่งอาจเป็นผลจากการรบกวนจากดาวพฤหัสบดี
- ดาวเคราะห์น้อยทั้ง 2 ลูกนี้ ที่ล้างบางเผ่าพันธุ์ของไดโนเสาร์ให้หายไปจากผืนแผ่นดินโลก ก็อาจเป็นแค่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ดี ร่องรอยของหลุมอุกกาบาตแห่งใหม่ที่ได้รับการค้นพบในทวีปอเมริกาใต้นี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยด้วย อย่างเช่น พื้นที่นี้อาจเคยเป็นปากปล่องภูเขาไฟโบราณมาก่อน ซึ่งในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้กำลังเสนอให้มีการขุดเจาะลงไปยังชั้นหินใต้ดินนี้ เพื่อที่จะยืนยันที่มาของหลุมนี้ให้จงได้
ไม่แน่ว่าการค้นพบครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็อาจทำให้เราต้องมานั่งปรับปรุงเรื่องราวการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์กันอีกครั้งหนึ่ง ตามหลักการของวิทยาศาสตร์ที่เปิดรับหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่ดีกว่าเสมอ
ที่มาข้อมูล: Smithsonian Magazine
ที่มาภาพ: Storyblocks
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech