มีคำถามตามมามากมาย หลังเกิดเหตุ “เรือหลวงสุโขทัย” อับปาง ระหว่างเผชิญกับกระแสน้ำและคลื่นลมแรง เมื่อค่ำวันที่ 18 ธันวาคม 2565 นำไปสู่การสูญหายของกำลังพลบนเรืออย่างน้อย 23 นาย จากกำลังพลทั้งหมดบนเรือ 105 นาย
รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง ให้ทัศนะว่า น่าจะเกิดจากเหตุภัยพิบัติ เป็นพลังธรรมชาติที่รุนแรง คาดเดาได้ยาก การเตรียมการอาจทำได้แต่ไม่เต็มที่ เพราะเรือหลวงสุโขทัยอยู่ในกลุ่มเรือรบขนาดเล็กที่สุด ที่มีระวางตั้งแต่ 500 ตันขึ้นไป จึงมีข้อจำกัดของการเดินทางในทะเลลึก จึงเหมาะกับการลาดตระเวน แต่มีใช้ในแทบทุกกองทัพทั่วโลก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนที่ต้องถอดรหัสอย่างน้อย 3 เรื่อง
1.การฝึกซ้อมที่ต้องมีต่อเนื่อง รวมทั้งเรื่องการกู้ภัย เรื่องการเข้าไปช่วยเหลือกรณีเรือหลวงกระบี่ ที่พยายามเข้าไปช่วย แต่ไม่ประสบผล หากมีการฝึกซ้อมบ่อย ๆ ยิ่งมีโอกาสป้องกันปัญหาและความผิดพลาดต่าง ๆ ได้ แต่การฝึกซ้อมก็มีค่าใช้จ่ายสูง
2.ตัวเรือ ระบบเครื่องยนต์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์จำเป็น อาทิ เสื้อชูชีพ เรือยาง ต้องตรวจสอบ โดยต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญสูง เพราะมีความซับซ้อน
3.การจัดสรรงบประมาณของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพเรือที่มักจะเป็นข่าวว่าได้น้อยกว่ากองทัพอื่น จนกองทัพไทยถูกระบุว่า การจัดสรรและกระจายงบ 3 เหล่าทัพไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ เรื่องงบประมาณ ยังรวมทั้งงบฯ จัดซื้อและการซ่อมบำรุงด้วย เพราะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องงบเงินลงทุนในโครงการ มากกว่างบประมาณสำหรับการซ่อมแซมทะนุบำรุง ลงลึกไปถึงรายละเอียดอื่น ๆ อาทิ มีกำลังพลจากหน่วยอื่นมาสมทบ การอนุมัติจ่ายเรือ ต้องตัดสินใจอย่างไร เมื่ออุปกรณ์จำเป็นอย่างเสื้อชูชีพมีไม่พอ
เรื่องเสื้อชูชีพไม่พอถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ แต่อาจต้องดูเรื่องสถานการณ์ที่แปรปรวนด้วย เพราะกรณีกำลังพลที่ใส่เสื้อชูชีพ ตอนสละจากเรือหลวงสุโขทัย ขึ้นเรือหลวงกระบี่ที่เข้ามาช่วยเหลือนั้น มีส่วนหนึ่งบาดเจ็บที่แขนขา ศีรษะแตก เท่ากับเมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าคนที่เสื้อชูชีพทั้งหมดจะปลอดภัย
รศ.ปณิธานกล่าวด้วยว่า "เร็วเกินไปที่จะสรุปว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดบกพร่องหรือไม่ อย่างไร"
นักวิชาการด้านกองทัพและความมั่นคง ระบุว่า เรือหลวงที่ติดตั้งระบบอาวุธเหมือนเรือหลวงสุโขทัย ขณะนี้เหลือเพียง 4 ลำ ย่อมกระทบต่อการดูแลความมั่นคงในน่านน้ำไทยพอสมควร แม้ในระยะสั้นอาจทดแทนกันได้ แต่ในระยะยาวอาจต้องหาทางแก้ไข หรือหายุทโธปกรณ์มาทดแทน ซึ่งเชื่อว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี
ส่วนความคาดหวังและการค้นหากำลังพลอีก 23 นายที่ยังสูญหายนั้น เชื่อว่ายังมีความหวัง เพราะกรณีเรือหลวงหรือเรือรบเปิดอับปางในต่างประเทศ เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง กำลังพลคอยคออยู่ในทะเล หรือพลัดไถลไปอยู่ในพื้นที่ที่อันตรายกว่านี้ ก็เคยมี ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายว่าเป็นอย่างไร และขึ้นอยู่กับการปฏิบัติการค้นหาด้วย
วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา