ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เข็ม 5 จำเป็นหรือไม่ ? ติดโควิดแล้วควรฉีดวัคซีนอีกไหม

สังคม
19 ธ.ค. 65
10:40
11,626
Logo Thai PBS
เข็ม 5 จำเป็นหรือไม่ ? ติดโควิดแล้วควรฉีดวัคซีนอีกไหม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"นพ.ยง" ตอบคำถามถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในกลุ่มคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อ และคนที่ติดเชื้อมาแล้ว ยังจำเป็นต้องฉีดหรือไม่ หรือควรจะฉีดอย่างไรให้เหมาะสม

วันนี้ (19 ธ.ค.2565) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 3 เข็ม 4 เข็ม หรือ 5 เข็ม แล้วจะต้องฉีดวัคซีน COVID-19 อีกหรือไม่

ศ.นพ.ยง อธิบายว่า คำว่า ฉีดวัคซีนมาแล้วจำนวนเข็มให้นับรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ถึงแม้ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตายของจีนก็ให้นับรวมด้วย วัคซีนทุกชนิดที่ฉีดไม่แตกต่างกัน สามารถให้ข้ามชนิดกันได้ อยากให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และเมื่อให้มานานแล้วเกิน 4 เดือนขึ้นไป จะให้เข็ม 4 ก็ไม่ว่ากัน 

ในคนที่ได้ 4 เข็มมาแล้ว จะให้เข็มต่อไปขอให้พิจารณาดังนี้ หากร่างกายแข็งแรงปกติดี อายุน้อย เช่นน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้เพิ่มอีก ถึงแม้จะติดโรคความรุนแรงของโรคก็จะน้อยมากการจะให้ต่อไปใน เข็มที่ 5 จะคำนึงในการให้ดังนี้

  • ในผู้ที่มีร่างกายเปราะบางและอ่อนแอมาก ๆ ผู้สูงอายุ มาก ๆ โรคเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคทางปอดและหัวใจ รวมทั้งโรคสมอง ผู้ป่วยติดเตียง ควรจะได้รับวัคซีนต่อไป ถ้าให้วัคซีนเข็มที่ 4 มานานแล้วเกิน 6 เดือน สามารถกระตุ้นเข็มต่อไปได้
  • การให้วัคซีนเข็มที่ 5 ขอให้พิจารณาสภาวะร่างกาย หากแข็งแรงดีก็ไม่จำเป็น แต่หากร่างกายอ่อนแอมาก ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วก็ควรจะมีการกระตุ้น
  • กรณีที่ได้วัคซีนมาแล้ว 3 ถึง 4 เข็มหรือมากกว่า แล้วเกิดการติดเชื้อ การติดเชื้อนั้นถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนอีก 1 เข็มโดยธรรมชาติ ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสมที่มีประสิทธิภาพสูง

ผู้ที่ติดเชื้อแล้วควรฉีดอีกไหม

ศ.นพ.ยง อธิบายเพิ่มว่า สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะฉีดวัคซีนอีกหรือไม่นั้นจะปฏิบัติดังนี้

  • หากไม่เคยฉีดวัคซีนเลยแล้วติดเชื้อจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไป โดยเข็มแรกให้ห่างจากการติดเชื้อประมาณ 2 - 3 เดือน แล้วฉีดเข็มที่ 2 ที่ห่างจากการติดเชื้อ 6-12 เดือน จะได้ภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์
  • หากฉีดวัคซีนมาแล้ว 1 เข็มแล้วติดเชื้อ ให้ฉีดวัคซีนเข็มต่อไปห่างจากการติดเชื้อประมาณ 3 - 6 เดือน ถือว่าได้รับ 3 เข็ม (การติดเชื้อนั้น ถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนอีก 1 เข็มโดยธรรมชาติ) ให้นับรวมการติดเชื้อเป็นการฉีดโดยธรรมชาติ 1 เข็ม และหากจะฉีดเข็มต่อไปก็ควรห่างอย่างน้อยอีก 4 - 6 เดือน โดยหลักการยิ่งห่างยิ่งดี
  • หากได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม แล้วติดเชื้อถือว่าได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็ม (ธรรมชาติฉีดให้เรา 1 เข็ม) หากจะฉีดวัคซีน เพิ่มอีก 1 เข็ม ควรจะห่างจากการติดเชื้อ 6 เดือน แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมาก ๆ จะกระตุ้นที่ 4 เดือนก็ได้
  • หากได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็มขึ้นไป แล้วติดเชื้อ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะเป็นภูมิต้านทานที่มีระดับสูงมาก ในคนที่แข็งแรงดี ไม่จำเป็นที่จะต้องกระตุ้น ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีร่างกายอ่อนแอมาก ๆ หากจะกระตุ้นก็ควรห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 6 เดือน

ทั้งนี้ หลักการทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วจะไม่ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เพราะการให้ mRNA วัคซีน ในเด็ก ผลข้างเคียง ระยะสั้นและระยะยาวจะเป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง

ในเด็กที่แข็งแรงดี ให้ฉีดวัคซีนตามกำหนดเท่านั้น และหากมีการติดเชื้อก็ถือว่าเป็นการได้รับภูมิต้านทานแบบสมบูรณ์ ลูกผสม ที่มีภูมิต้านทานที่ดีมากจะไม่ให้เข็ม 4 กับ 5 ในเด็ก

ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่า การจะฉีดวัคซีนกระตุ้น อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือ การระบาดของโรค หากเอาระบาดมาก ความเสี่ยงของเราก็สูง ก็ควรได้รับการกระตุ้น เช่นในช่วงนี้การระบาดอยู่ในขาขึ้น และหากหลัง ก.พ.ไปแล้วอยู่ในขาลงก็จะอยู่ในภาวะที่รอได้ โดยจะมีการระบาดอีกครั้งหนึ่งในเดือน มิ.ย. เมื่อถึงตอนนั้นค่อยพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง ตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ ขอย้ำอีกทีการนับจำนวนเข็มการฉีดวัคซีน ไม่แยกชนิดของวัคซีน ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนอะไรมาก็ขอให้นับจำนวนเข็มทั้งหมด

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง