วันนี้ (6 ธ.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เครือข่ายทวงคืนชายหาด นำโดยของกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 94 องค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อขอให้ภาครัฐทบทวนโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่ไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
โดยออกแถลงการณ์ประณามความไม่ชอบธรรมของกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า จากการติดตามการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการฯ มาตลอด 10 ปี พบมีการงบประมาณกว่า 6,694 ล้านบาท ใช้ในโครงการกำแพงกันคลื่น 107 โครงการ หลังจากกำแพงกันคลื่นถูกถอดจากโครงการที่ต้องศึกษาผลกระทบ EIA
พบการใช้ช่องกฎหมาย ไม่สนใจข้อเท็จจริงทางวิชาการ และบทเรียนความล้มเหลวในการป้องกันแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จนสร้างความเสียหายต่อชายหาดและทำให้ชายหาดถูกทำลาย เช่น หาดปราณบุรี หาดชะอำ หาดแหลมเสด็จ หาดทรายแก้ว เป็นต้น
เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า ชายหาดไทยกำลังหายไป หากรัฐยังคงดำเนินนโยบายให้กรมโยธาธิการฯ สร้างกำเเพงกันคลื่น เเละกำเเพงกันคลื่นไม่ทำ EIA เเละเพื่อรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ของกลุ่ม Beach for life เเละเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด
ภาพ: เฟซบุ๊ก Beach for life
ปักหลักชุมนุมทวงคืนชายหาดหน้า ทส.
ต่อมาเวลา 16.00 น.เครือข่ายได้มาทำกิจกรรมที่ด้านหน้ากระทรวงทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยจะปักหลักชุมนุมที่ด้านหน้าทส.จนกว่า 3 ข้อเรียกร้องจะบรรลุ กล่าวคือ ปลดกรมโยธาธิการและผังเมือง ออกจากหน่วยงานรับผิดชอบ สั่งให้ต้องทำ EIA โครงการการแพงกันคลื่น และฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่โครงการที่ทำไปแล้ว
ต่อมานายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วยนายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นตัวแทนในการพูดคุยกับเครือข่าย
ภาพ: เฟซบุ๊ก Beach for life
โดยเตรียมนำข้อเสนอของเครือข่ายเพื่อนำเสนอต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการเริ่มต้นมาจากการปลดให้กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA และจากนั้นให้นำร่างที่เป็นลายลักษณ์อักษร มาพูดคุยกันอีกครั้ง
ตัวแทนเครือข่าย ระบุว่า ไม่ต้องการให้รัฐ และทส.ซื้อเวลากับเรื่องนี้ และไม่ยอมจนกว่าจะมีข้อสรุปเป็นลายลักษณ์อักษร และขอนั่งรอจนกว่าทส.จะตกผลึก และไม่ได้ถือเป็นการบีบบังคับ แต่ขอให้นายวราวุธ ต้องมีคำตอบให้กับชาวบ้าน
ภาพ: เฟซบุ๊ก Beach for life
รับข้อเสนอชาวบ้าน-เล็งตั้งกรรมการทบทวน
ด้านนายอรรถพล ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เบื้องต้นมีการพูดคุยและได้ข้อสรุปในการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในประเด็นข้อเรียกร้อง โดยในส่วนที่เกี่ยวกับทส.และสผ.เช่น เรื่องของการทำโครงสร้างแข็ง อาจทบทวนทำอีไอเอ และการปรับแก้โครงการที่ทำแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยจะสรุปเสนอรมว.ทส.และปลัดทส. และจะมีการปรับแก้ไขข้อมูลระหว่างเครือข่าย กับทส.อีกครั้งวันพรุ่งนี้ (7 ธ.ค.)
หลังทำบันทึกข้อตกลงแล้ว จะมีการหารือเรื่องการตั้งคณะทำงานโดยเฉพาะกำแพงกันคลื่นที่ทำแล้วเกิดความเสียหาย ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินราชการ เหมือนกับบ้านป่าแหว่ง ที่สร้างโดยงบจะแก้ไขรื้อถอนขึ้นกับกับคณะกรรมการร่วม ทั้งกระทรวงคลัง บัญชกลางและสตง.และต้องมีกรรมการทางวิชาการ