เครื่องบินโจมตีแบบ AU-23 หรือ พีชเมกเกอร์ ของกองทัพอากาศ เป็นเครื่องบินที่สหรัฐฯ พัฒนาขึ้นมาใช้ปฏิบัติการรบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งกองทัพอากาศไทยได้รับเข้ามาประจำการครบ 50 ปีในปีนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งความภาคภูมิใจของกองทัพอากาศ เพราะปัจจุบันเหลือเพียงฝูงเดียวในโลก ประจำที่กองบิน 5 ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 12 เครื่อง
น.ท.ชิดพล อุไรพงษ์ ผบ.ฝูง 501 กองบิน 5 ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ทยอยปรับปรุงขีดความสามารถ เพื่อยืดอายุการใช้งานไปได้อย่างน้อยอีก 15 ปี
ระบบเครื่องบินค่อนข้างดูแลง่าย ไม่ซับซ้อน อยู่ในขีดความสามารถของกองทัพอากาศที่จะทำการซ่อมบำรุง
นอกจากการปรับปรุงเครื่องบินเก่าให้ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับภารกิจแล้ว กองทัพอากาศยังมีแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ที่ต้องเดินหน้า โดยเฉพาะการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 ที่ต้องทยอยปลดประจำการในอีกไม่นานนี้ ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีปรับปรุงยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน แบบเครื่องบินทางธุรการทั่วไป
พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระบุว่าเบื้องต้นกองทัพอากาศจะจัดหา F-35 จำนวน 2 เครื่อง วงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังตัองรอคำตอบจากสภาครองเกสของสหรัฐฯ ภายในเดือน ม.ค. - ก.ค. ปี 2566 ว่าจะอนุมัติขายให้ไทยในฐานะมิตรประเทศหรือไม่ เนื่องจากเป็นเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่มีชั้นความลับสูง
F-35 เป็นเครื่องบินที่มีแต้มต่อมาก 1 เครื่อง แทนเครื่องบินขับไล่ได้ 3 เครื่อง ตอนนี้ยังไม่มีแผนสำรอง ถ้าสหรัฐฯ ไม่ขาย
ปี 2566 กองทัพอากาศมีเครื่องบินใหม่อีกหลายแบบ ที่จะทยอยประจำการตามแผนจัดหาเดิม เช่น เครื่องบินลาดตระเวนทางอากาศ แบบไดมอนด์ติดตั้งกล้องพิเศษ ใช้สำรวจ-วิเคราะห์พื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ตรงจุด, เครื่องบินฝึกแบบ T-6C สำหรับศิษย์การบิน และมีโครงการจัดหาเครื่องบิน AT-6 ทดแทนเครื่องบิน L-39 ของกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่
รวมทั้งจะพิจารณาทบทวนบางโครงการ เช่น โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันการทางอากาศ เฟส 7 และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ
อย่างไรก็ตาม แผนจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในภาวะงบประมาณจำกัด ต้องอ้างอิงตามเหตุผล-ความจำเป็น บริหารทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และต้องตอบข้อสงสัยของสังคม และฝ่ายการเมืองที่จับจ้องการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ