ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก 21 แหล่งซากดึกดำบรรพ์ของไทย

ไลฟ์สไตล์
23 พ.ย. 65
13:34
27,738
Logo Thai PBS
รู้จัก 21 แหล่งซากดึกดำบรรพ์ของไทย
ร่องรอยในอดีตบอกอะไรได้บ้าง? ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนทำความรู้จัก 21 แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนฯ พบหลักฐานกระดูก-รอยตีน-ร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์นับหลายล้านปี ทั้งไดโนเสาร์ ปลาโบราณ ไม้กลายเป็นหิน บางแหล่งค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก

วาฬบรูด้า "อำแพง" อายุ 3,380 ปี ซากดึกดำบรรพ์ล่าสุด และเป็นซากวาฬตัวแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ด้วยความสมบูรณ์ของการค้นพบกระดูก 141 ชิ้น หรือ 80-90% ของทั้งตัว สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการธรณีวิทยา

หลักฐานจากร่องรอยอดีตนับหลายล้านปี บ่งบอกถึงวิวัฒนาการของโลกใบนี้ ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนปี 2554-2565 จำนวน 21 แห่ง มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติของโลก บรรพชีวินวิทยา บรรพชีววิทยา และการลำดับชั้นหิน

  • แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ท่าอุเทน ตั้งอยู่ในบ่อเหมืองหินทรายเก่า ต.พนอม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นแหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ที่มากที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ถูกค้นพบเมื่อปี 2544 โดยนายนเรศ สัตยารักษ์ และประกาศให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 ถือเป็นแห่งแรกที่ได้ขึ้นทะเบียน โดยพบรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์มากกว่า 600 รอย ได้แก่ ไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิโธมิโมซอร์ หรือไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ ไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิโธพอด และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก อยู่บนรอยริ้วคลื่นบนชั้นหินทราย ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 100 ล้านปีก่อน
  • แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ภูแฝก ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ "ร่องรอยของนักล่าขนาดใหญ่แห่งเทือกเขาภูพาน" ถูกค้นพบในห้วยผึ้งเมื่อปี 2539 โดยเด็กหญิงกัลยามาศ สิงห์นาคลอง และเด็กหญิงพัชรี ไวแสน และได้ขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2556 โดยพบรอยตีนไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ประทับอยู่ในชั้นหินทราย ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 140 ล้านปีก่อน มีรอยตีนไม่น้อยกว่า 25 รอย ปรากฏเป็น 7 รอยทางเดิน ส่วนใหญ่เป็นของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ กลุ่มคาร์โนซอร์ และมีรอยทางเดินของไดโนเสาร์กินพืชคอยาวกลุ่มซอโรพอด 1 แนว
  • แหล่งซากไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์ "ไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียอาคเนย์" ขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2557 ภูกุ้มข้าว เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ในพื้นที่ ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ ค้นพบเมื่อปี 2537 โดยพระญาณวิสาลเถร เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ต่อมาได้ทำการขุดค้นและศึกษาวิจัยโดยคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส มีซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์มากกว่า 700 ชิ้น ในชั้นหินทรายแป้ง ยุคครีเทเซียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปีก่อน โดยมีไดโนเสาร์อย่างน้อย 4 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นไดโนเสาร์กินพืช คอยาว อย่างน้อย 7 ตัว หนึ่งในนั้นมีโครงกระดูกสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบในไทยและเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ ต่อมาทราบว่าเป็นกระดูกของไดโนเสาร์ "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" นอกจากนี้ยังพบฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อปะปน
  • แหล่งซากปลาโบราณภูน้ำจั้น "สุสานปลาโบราณยุคไดโนเสาร์" ตั้งอยู่บริเวณบ้านดงเหนือ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายน์ จ.กาฬสินธุ์ ค้นพบเมื่อปี 2540 และได้ขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2557 ชาวบ้านบางส่วนที่ค้นพบได้นำวัตถุลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายงูไปถวายเก็บไว้ที่วัดโพนพิมาน ต่อมาคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส สำรวจขุดค้นและศึกษาวิจัย พบว่ามีซากดึกดำบรรพ์ปลาโบราณ 200 ตัว ในชั้นหินทรายแป้ง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย อายุประมาณ 150 ล้านปีก่อน โดยมีปลาโบราณชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบ 3 ชนิด ได้แก่ ปลากินพืช ไทยอิกธิส พุทธบุตรเอนซิส, ปลากินเนื้อ อีสานอิกธิส พาลัสทริส และปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโดตัส มาร์ตินี
  • แหล่งไม้กลายเป็นหินบ้านตาก "ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก" ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก ถูกค้นพบเมื่อปี 2546 โดยวชิระ ม่วงชุม และคณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบไม้กลายเป็นหินโผล่ขึ้นมาในลำห้วยกลางป่าลึก เมื่อเปิดหน้าดินออกจึงพบว่ามีความยาว 72.22 เมตร ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในโลก โดยฝังตัวอยู่ใต้ชั้นกรวดแม่น้ำ ยุคควอเทอร์นารี จากการศึกษาอายุพบว่าไม้กลายเป็นหินถูกฝังในช่วง 50,000-120,000 ปีก่อน โดยประกาศขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2559 จำนวน 3 ประกาศ คือ แหล่งซากไม้กลายเป็นหิน (หลุมขุดค้นที่ 1-4) แหล่งซากไม้กลายเป็นหิน (หลุมขุดค้นที่ 5) แหล่งซากไม้กลายเป็นหิน (หลุมขุดค้นที่ 6-7)
  • แหล่งซากไทรโลไบต์อ่าวเมาะและ "แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่อายุเก่าแก่ที่สุดของไทย" ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะตะรุเตา เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีสตูล ถูกค้นพบเมื่อปี 2500 โดย Teiichi Kobayachi นักบรรพชีวินวิทยาชาวญี่ปุ่น เมื่อครั้งปฏิบัติการภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดยพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลโบราณบนชั้นหินทรายสีแดงซึ่งวางเรียงรายตามแนวโขดหินรอบ ๆ อ่าว โดยเฉพาะไทรโลไบต์ จากการศึกษาวิจัยทำให้ทราบว่าอยู่ในยุคแคมเบรียนตอนปลาย อายุประมาณ 495 ล้านปีก่อน ภายหลังจึงตั้งชื่อว่า "กลุ่มหินตะรุเตา" โดยพบซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์มากกว่า 20 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นชนิดใหม่ 7 ชนิด คือ พาโกเดีย ไทยเอนซิส ไทยแลนเดียม โซลัม อีโกซอเกีย บุราวาสิ โปรซอเกีย โอคูลาตา โคเรียโนเซฟาลัส พลานูลาทัศ และสตูลอาร์คัส เมาะและเอนซิส โดยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในไทย ประกาศขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2560
  • แหล่งสุสานหอยแหลมโพธิ์ "สุสานหอยน้ำจืดในทะเล" เป็นที่รู้จักในชื่อ "สุสานหอย 75 ล้านปี" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บริเวณชายฝั่งทะเลบ้านแหลมโพธิ์ ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ ถูกค้นพบเมื่อปี 2507 โดยนายภุมวาร โกมลาชุน ขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2560 จำนวน 3 ประกาศ พบซากดึกดำบรรพ์หอยน้ำจืดเป็นชั้นหนา ส่วนใหญ่เป็นหอยฝาเดียว จำพวกหอยขม หอยคัน และหอยมวนพลู เรียงตัวอัดกันอย่างหนาแน่นคล้ายแผ่นซีเมนต์ผสมกรวดแผ่ออกไปเป็นลานกว้างและยื่นออกไปตามแนวชายฝั่งทะเล ระยะทาง 2 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ผลการศึกษาวิจัยซากเรณูและสปอร์ของพืชโบราณที่พบในสุสานหอย โดยกำหนดอายุสุสานหอยแหลมโพธิ์ ในช่วงเวลา 40-20 ล้านปี แต่ชื่อเดิมซึ่งมีอายุ 75 ล้านปี ยังถูกเรียกมาถึงปัจจุบัน
  • แหล่งซากนอติลอยด์ท่ากระดาน "สุสานนอติลอยด์มากที่สุดของไทย" ถูกค้นพบโดยจีรศักดิ์ เจริญมิตร เมื่อปี 2553 ที่เชิงเขากะทะ เป็นลานหินวางเรียงราย ในเขต ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และได้รับการขึ้นทะเบียนฯ ในวันที่ 13 ก.ย.2551 โดยการศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างชาติ พบว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์นอติลอยด์ ที่อยู่ในหินปูนยุคออร์โดวิเชียนตอนกลาง อายุประมาณ 470 ล้านปีก่อน ถือเป็นสัตว์ทะเลที่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับพวกหมึกในปัจจุบัน พบกระจายตัวเป็นจำนวนมากในพื้นที่ขนาดยาวตั้งแต่ 5-20 เซนติเมตร จำนวนมากกว่า 200 ตัว
  • แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง หลุม 1 (ภูประตูตีหมา) "แหล่งไดโนเสาร์ภูเวียง เจ้าฟ้าสิรินธร" ตั้งอยู่บนยอดเขาทางทิศตะวันออกของที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง ต.ในเมือง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ค้นพบเมื่อปี 2525 โดยนายวราวุธ สุธีธร และคณะ และขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562 โดยพบชิ้นกระดูกไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด หลายชิ้นอยู่ในชั้นหินยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปีก่อน กระดูกซี่โครง กระดูกขาหน้า กระดูกขาหลัง และกระดูกสันหลัง การศึกษาวิจัยพบว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ความยาว 15-20 เมตร และตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยงานด้านซากดึกดำบรรพ์ มีชื่อว่า "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" นอกจากนี้ ยังพบฟันและกระดูกขาของไดโดเสาร์กินเนื้อปะปนอยู่
  • แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง หลุม 4 (โนนสาวเอ้) "แหล่งอนุบาลไดโนเสาร์ภูเวียง" ที่โนนสาวเอ้ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือไป 4 กิโลเมตร จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง ต.ในเมือง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ค้นพบเมื่อปี 2533 โดยชาวบ้านหนองคอง และได้รับการขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562 พบซากดึกดำบรรพ์ในชั้นหินยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปีก่อน กระจายอยู่บริเวณกว้าง พื้นที่กว่า 10 ตารางเมตร ประกอบด้วนกระดูกไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส ตัวเต็มวัย และวัยเยาว์จำนวนมาก นอกจากนั้นยังพบเกร็ดปลา ฟันจระเข้ และกระดองเต่า ซึ่งในอดีตหลุมขุดค้นนี้และบริเวณใกล้เคียงถูกบุกรุกทำลายและลักลอบขุดกระดูกไดโนเสาร์ไปขายในช่วงปี 2536 ทำให้สูญเสียข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ในแหล่งนี้จำนวนมาก
  • แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง หลุม 5 (ซำหญ้าคา) "แหล่งไดโนเสาร์นกกระจอกเทศของไทย" ที่ซำหญ้าคา พื้นที่ลานกว้างใน ต.ในเมือง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียงไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ถูกค้นพบเมื่อปี 2534 และขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562 โดยนายวราวุธ สุธีธร และคณะ ได้พบซากดึกดำบรรพ์ในชั้นหินยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปีก่อน และเริ่มขุดค้นปี 2535-2536 ส่วนใหญ่กว่า 80 ตัวอย่างเป็นไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิโธมิโมซอร์ หรือไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก มีชื่อว่ากินรีมิมัส ขอนแก่นเอสซิส ถือเป็นครั้งแรกที่ค้นพบไดโนเสาร์ในกลุ่มนี้ และเป็นแหล่งเดียวในไทยที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังพบกระดูกไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส วัยเยาว์ เกล็ดปลา กระดองเต่า และฟันจระเข้
  • แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง หลุม 8 (หินลาดป่าชาด) "รอยสัตว์ดึกดำบรรพ์แห่งภูเวียง" ที่หินลาดป่าชาด อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง ต.ในเวียง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ในปี 2532 นายวราวุธ สุธีธร และคณะ ได้ค้นพบร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์จำนวนกว่า 60 รอย ขึ้นทะเบียนฯ วันที่ 19 ส.ค.2562 ส่วนใหญ่เป็นรอยตีนไดโนเสาร์ แสดงเป็นแนวทางเดินหลายทิศทางประทับอยู่บนลานหินทราย ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 140 ล้านปีก่อน ลักษณะเป็นรอยประทับ 3 นิ้ว ส่วนใหญ่มาจากไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิโดพอดขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังพบรอยตีนของไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มซีลูโรซอร์ ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ และรอยทางเดินสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก รูหนอน และมีรอยริ้วคลื่นที่แสดงถึงสภาพแวดล้อมในอดีตที่เคยเป็นธารน้ำไหลมาก่อน
  • แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง หลุม 9 (หินลาดยาว) "แหล่งไดโนเสาร์กินเนื้อแห่งภูเวียง" ที่หินลาดยาว เป็นลานหินที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือไปประมาณ 2 กิโลเมตร จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง ต.ในเวียง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ถูกค้นพบเมื่อปี 2536 โดยนายสมชัย เตรียมวิชานนท์ และนายปรีชา ช้ายหนองขาม ซึ่งค้นพบกระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลังและกระดูกหางไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่สภาพเกือบสมบูรณ์ มีการศึกษาวิจัยโดยคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส พบว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ความยาวประมาณ 6.5 เมตร ชื่อว่าสยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ ยังพบกระดูกไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มสไปโนซอริด และไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใหม่ ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562
  • แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ภูเก้า "รอยตีนนักล่าน้อยใหญ่แห่งภูเก้า" อยู่ในอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ต.นิคมพัฒนา อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เมื่อปี 2543 คณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส ได้พบรอยตีนไดโนเสาร์บริเวณลานหินทราย ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปีก่อน นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์ในหมวดหินเสาขัว จำนวน 25 รอย รอยตีนลักษณะ 3 นิ้ว คาดว่าเป็นรอยไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มคาร์โนซอร์ นอกจากนี้ในอุทยานฯ พบซากดึกดำบรรพ์ประกอบด้วยฟันและกระดูกไดโนเสาร์กินพืช ฟันไดโนเสาร์กินเนื้อ ฟันจระเข้ กระดูกขาและกระดองของเต่า เกล็ดและฟันของปลาเลปิโดเทส ฟันปลาฉลามน้ำจืด หอยน้ำจืด นับเป็นความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสำคัญในด้านธรณีวิทยา และซากดึกดำบรรพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2562
  • แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย "จูแรสสิกพาร์คเมืองไทย" ภูน้อยเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่ตามแนวเทือกเขาภูพาน ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ถูกค้นพบเมื่อปี 2551 โดยนายทองหล่อ นาคำจันทร์ พร้อมนำตัวอย่างไปที่ว่าการอำเภอ จากนั้นส่งต่อมายังพิพิธภัณฑ์สิรินธรเพื่อตรวจสอบ พบว่าเป็นชิ้นส่วนดึกดำบรรพ์เกล็ดปลาโบราณ และชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ ในยุคจูแรสสิกตอนปลาย อายุประมาณ 150 ล้านปีก่อน โดยมีความหลากหลายของซากดึกดำบรรพ์ ปัจจุบันค้นพบมากกว่า 2,000 ชิ้น ทั้งกระดูกไดโนเสาร์ จระเข้ เทอโรซอร์ เต่า ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และไม้กลายเป็นหิน โดยการศึกษาพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด ได้แก่ ฉลามน้ำจืด อะโครดัส กาฬสินธุ์เอนซิส ปลานักล่า อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี ปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนน์เคมเอ เต่า ภูน้อยคีลีส ธีคุปติ และกาฬสินธุ์นีมีส ปราสาททองโอสถถิ จระเข้ อินโดไซโนชูคัส โปตาโมสยามเอนซิส และอินโดไซโนชูคัส กาฬสินธุ์ เอนซิส โดยประกาศขึ้นทะเบียนฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562
  • แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ภูหลวง "แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์แห่งแรกของไทย" ภูหลวงเป็นภูเขาที่ยกตัวกลายเป็นที่ราบสูง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์รอยตีนสัตว์ใกล้ผาเตลิ่น ต.ท่าศาลา อ.ภูเรือ จ.เลย โดยเจ้าหน้าที่ฯ ค้นพบเมื่อปี 2527 ซึ่งเป็นการค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์แห่งแรกในไทย ต่อมาได้มีการสำรวจพบรอยตีนไดโนเสาร์ 15 รอย ประทับอยู่บนชั้นหินทราย ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปีก่อน ลักษณะเป็นนิ้ว 3 นิ้ว เป็นรอยตีนของไดโนเสาร์กินเนื้อในกลุ่มคาร์โนซอร์ ถือว่าเป็นรอยตีนที่ค้นพบในหมวดหินภูพาน โดยประกาศขึ้นทะเบียนฯ ปี 2564
  • แหล่งซากดึกดำบรรพ์เขาน้อย "ทะเลดึกดำบรรพ์สองยุค" เขาน้อยเป็นเนินเขาลูกเล็ก ๆ อยู่ในพื้นที่บ้านทุ่งเสม็ด ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล ค้นพบซากดึกดำบรรพ์เมื่อปี 2555 โดยนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลาย ได้แก่ แกรปโตไลต์ ไทรโลไบต์ นอติลอยด์ พลับพลึงทะเล แบรคิโอพอด และสโตรมาโตไลต์ ชั้นหินได้เปลี่ยนแปลงจากหินปูนไปเป็นหินตะกอน ตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียนตอนปลาย ประมาณ 450 ล้านปีก่อน ถึงยุคไซลูเรียนตอนต้น ประมาณ 430 ล้านปีก่อน โดยมีหลักฐานซากดึกดำบรรพดัชนีที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนจากกลุ่มไทรโลไบต์ ยุคโซลูเรียนตอนต้น ถือเป็นแหล่งชั้นหินแบบฉบับที่มีซากดึกดำบรรพ์เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน สามารถอ้างอิงในระดับประเทศและระดับสากล ขึ้นทะเบียนฯ เมื่อปี 2564

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก “วาฬอำแพง” อายุ 3,380 ปี ฟอสซิลวาฬตัวแรก 

ไขปริศนาอายุ “วาฬอำแพง” บ่งชี้ 3,380 ปีก่อน "บ้านแพ้ว" เป็นทะเล 

ขุดอดีต “หอย-หิน” สู่อาชีพนักธรณี 

เปิดกระเป๋าอุปกรณ์สำรวจภาคสนามนักธรณีวิทยา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง