กรณีบีทีเอสเผยแพร่คลิปทวงถามหนี้ 40,000 ล้านบาทที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ค้างจ่าย ท่ามกลางความไม่ชัดเจนเรื่องการต่ออายุสัมปทาน 30 ปีแลกหนี้สินส่วนนี้
วันนี้ (22 พ.ย.2565) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงประเด็นว่ากรณีการชะลอการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากการทำสัญญาของบีทีเอสสายสีเขียว แยกออก 3 ส่วนตั้งแต่ส่วนสัมปทาน ซึ่งกทม.ให้สัมปทานกับบีทีเอส และส่วนสัญญาจ้างเดินรถสวนต่อขยาย 1 วงเวียนใหญ่ ถึงบางหว้า และแบรริ่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ กทม.ทำสัญญาจ้างกับกรุงเทพธนาคม (KT) ในการบริหารเดินระบบ และ KT ไปจ้างเดินรถ แต่ที่มีปัญหาคือส่วนต่อขยายที่ 2 ต่างกันตรงที่ส่วนต่อขยาย 2 เป็นแค่การมอบหมายการดำเนินงาน

นายวิศณุ กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตตั้งหนี้ผูกพันต้องผ่านความเห็นชอบของสภา กทม.ตามข้อบัญญัติ ซึ่งในส่วนต่อขยาย 1 ทำตามขั้นตอนตามข้อบัญญัติกทม. ได้ผ่านการพิจารณาของสภากทม.ก่อนทำสัญญากับ KT
ไทม์ไล์ปมสัญญาบีทีเอสส่วนต่อขยาย 2
นอกจากนี้รองผู้ว่าฯ กทม.ยังกางไทมไล์ส่วนต่อขยาย 2 ซึ่งพบว่าวันที่ 28 มิ.ย.2559 กรุงเทพธนาคมไปทำสัญญากับเอกชน 19,000 ล้านบาท ก่อนที่จะมีการประชุมมอบหมาย เพราะเดิมมีแค่จดหมายมา และมาลงนามบันทึกมอบหมาย 28 ก.ค.2559 แต่ยังไม่ผ่านสภากทม. และในปี 2561 สภากทม.ปัดตกจึงไม่มีการบรรจุงบประมาณ

ปี 2564 สภากทม.ก็ยังไม่เห็นชอบว่ายังจ่ายไม่ได้ เหมือนกับกระดุมเม็ดแรกยังกลัดไม่ถูก เลยเกิดปัญหาขึ้นมา จริงๆ ฝ่ายบริหาร กทม. อยากจ่ายแบบตรงมาตรงไป ไม่มีเจตนาชะลอการจ่าย แต่บันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์ หนี้ก้อนนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของสภากทม.

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในระหว่างทางก็ยังมีคำสั่งของ คสช.เมื่อ 16 เม.ย.2562 เรื่องแก้ไขปัญหาและกรรมการได้มีการเจรจาให้เวลา 30 วันและต่อขยายอีก 30 วัน จนได้ตัวร่างเนื้อหาสัญญามีเนื้อหาเรื่องค่าจ้างเดินรถจากและรายจ่ายลบกับรายรับ ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบ จึงไม่ได้มีการจ่าย เพราะเป็นผลจากการเจรจาของกรรมการชุดนี้
ที่ประชุมสภากทม.เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2564 ไดพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ และมีมติไม่เห็นชอบให้ กทม. จ่ายขาดเงินสะสม เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติ กทม. เรื่องเงินสะสม(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564
สภา กทม.มีข้อเสนอให้กทม. ขอรับการสนับสนุนงบจากรัฐบาล หรือให้ใช้วิธีให้เอกชนรับภาระ และให้ประโยชน์ตอบแทนในรูปสัมปทานเดินรถ หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอ ควรส่งโครงการดังกล่าวคืนให้ รฟม.

รองผู้ว่ากทม.กล่าวอีกว่า ภาพรวมยังดำเนินการไม่ได้เพราะค้างค่าจ้างดินรถตั้งแต่พ.ค.2562 ที่มีการเจรจาตาม ม.44 ที่ระบุให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบ และตอนนี้ยังรอว่าครม.จะมีข้อคิดเห็นอย่างไร เพราะถ้า ครม.เห็นชอบตัวหนี้ก็จะไปอยู่ในส่วนการขยายสัมปทาน
นอกจากนี้มูลค่าหนี้ที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์ค่าดอกเบี้ย เนื่องจากกทม.ไม่มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ และสัญญาที่กทม.ทำกับ KT ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
BTS ปล่อยคลิปทวงหนี้ กทม. 40,000 ล้านบาท