ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

BTS ปล่อยคลิปทวงหนี้ กทม. 40,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจ
22 พ.ย. 65
07:57
582
Logo Thai PBS
BTS ปล่อยคลิปทวงหนี้ กทม. 40,000 ล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บีทีเอส ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เผยแพร่คลิปทวงถามหนี้ 40,000 ล้านบาท ที่ กทม.ค้างจ่าย ท่ามกลางความไม่ชัดเจนเรื่องการต่ออายุสัมปทาน 30 ปีแลกหนี้สินส่วนนี้ ขณะที่ผู้ว่า กทม.ย้ำเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการถูกต้องตามกฎหมาย

วันที่ 21 พ.ย.2565 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เผยแพร่คลิปวีดิโอความยาวกว่า 02.04 นาที โดยมีเนื้อหาระบุถึงหนี้สิน กทม. ที่ติดค้างบริษัทกว่า 40,000 ล้านบาท เป็นเวลากว่า 3 ปี โดยมีเสียงการให้สัมภาษณ์ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัทฯ ที่ระบุว่า ขอให้ผู้มีอำนาจและผู้บริหารประเทศทั้ง กทม. และการเมืองของประเทศ เข้ามาดูเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะเอกชนผู้ลงทุนจ่ายทุกวันและดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นภาษีประชาชนที่เสียหาย จึงไม่ควรปล่อยลอยไปลอยมาเช่นนี้ แต่ยืนยันไม่หยุดเดินรถ เพราะประชาชนจะได้รับผลกระทบ

ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ท่านที่อยู่ในอำนาจควรคิดได้แล้วว่าดอกเบี้ยที่เสียไป ผมเชื่อว่าประชาชน-ภาษีเราเสียหาย

"ชัชชาติ" ชี้เป็นหนี้ต้องจ่าย-รอสภา กทม.อนุมัติ

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า หนี้ค่าจ้างเดินรถและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้าง BTSC นั้น มีประเด็นข้อกฎหมายอยู่ เพราะข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กำหนดไว้ว่าการก่อหนี้ผูกพันต้องผ่านความเห็นชอบจาก สภา กทม.เสมอ ซึ่งกรณีนี้เป็นหนี้ผูกพัน เพราะต้องจ่ายต่อเนื่องทุกปี แต่ไม่มั่นใจว่าหนี้ส่วนนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.แล้วหรือไม่ จึงทำหนังสือถามไปยังสภา กทม. หากยังไม่ผ่านจะได้หาแนวทางในการแก้ไขต่อไป อาจจะทำสัญญาใหม่ หรืออื่น ๆ

ขณะเดียวกันยังต้องไปตรวจสอบว่าการรับโอนโครงสร้างโยธาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.หรือไม่ เนื่องจากการรับโอนโครงสร้างโยธา เป็นการก่อหนี้ผูกพันเช่นเดียวกัน

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 นายชัชชาติ กล่าวว่า จุดนี้ไม่มีปัญหา แต่ประเด็นอยู่ที่หนี้ค่าจ้างเดินรถเป็นส่วนหนึ่งของการขยายสัมปทานตามคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2562 ทำให้ไม่สามารถจ่ายได้ หากกระบวนการสิ้นสุดแล้ว กทม.ก็พร้อมจ่ายหนี้ส่วนนี้ทันที ก่อนจะย้ำว่าเป็นหนี้ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง