ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความสำเร็จวิจัย “คาเวียร์ อินทนนท์” สู่เมนูประชุมเอเปค

ภูมิภาค
16 พ.ย. 65
16:47
2,362
Logo Thai PBS
ความสำเร็จวิจัย “คาเวียร์ อินทนนท์” สู่เมนูประชุมเอเปค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเทศไทยถือเป็นเมืองร้อน แต่สามารถเพาะเลี้ยงปลาเมืองหนาวอย่างปลา “สเตอร์เจียน” ที่นำไข่มาทำ “คาเวียร์” ถือเป็นความสำเร็จของนักวิจัยไทย และยังสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารประชุมผู้นำเอเปคในครั้งนี้ด้วย

หน่วยวิจัยประมงพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ มูลนิธิโครงการหลวง จ.เชียงใหม่ สามารถเพาะเลี้ยงปลา “สเตอร์เจียน”ได้ตั้งแต่ปี 2548 และสามารถทำ”คาเวียร์”ได้เมื่อเลี้ยงได้ 6 ปีขึ้นไป และเนื้อสามารถขายได้เมื่อเลี้ยงได้ 3 ปี

นายสานนท์ น้อยชื่น นักวิชาการประมง มูลนิธิโครงการหลวง ระบุว่า ดอยอินทนนท์เป็นดอยที่สูงสุดของประเทศไทย ทำให้มีอากาศหนาวเย็นทั้งปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานเงินทุนเริ่มต้นเพื่อซื้อไข่ปลามาจาก 2 ประเทศคือ เยอรมนีกับรัสเซีย และเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน

อุณหภูมิที่เหมาะสมคือประมาณ 18 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนเกินไปไข่จะสลายและปลาตายได้ น้ำต้องไหลเวียนตลอดเวลา โดยใช้น้ำจากน้ำตกสิริภูมิ จำลองเหมือนลำธาร ที่อยู่ต้องสะอาด หากช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิต้องไม่เกิน 22-23 องศาเซลเซียส

 

การเลี้ยงปลาเมืองหนาว ที่สามารถเพาะเลี้ยงปลาในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นในเมืองไทย ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของการวิจัยที่สามารถผลิต “คาเวียร์” ได้ แต่ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงยังจำกัด ใครครอบครองต้องขออนุญาตจากกรมประมง เพราะเป็นปลานำเข้าจากต่างประเทศ โดยมูลนิธิโครงการหลวงก็ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยแม้จะเลี้ยงมา 17 ปี

การวิจัยยังเจอปัญหา การขยายพันธุ์ ผสมพันธุ์ยาก

ปัจจุบันพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ปลาสเตอร์เจียนมีอายุ 17 ปี มีประมาณ 200 ตัวเท่านั้น และหน่วยวิจัยประมงฯ ย่อยแม่กลางหลวง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลามีอีกประมาณ 1 หมื่นตัว ซึ่งการเพาะพันธุ์เป็นขั้นตอนนี้ที่ยากที่สุด

นายสิทธิโชค เมืองพา นักวิชาการประมง มูลนิธิโครงการหลวง หน่วยย่อยบ้านแม่กลางหลวง บอกว่า การเพาะเลี้ยงยากพอสมควร ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ หัวใจหลักเพาะเลี้ยง คือ การอนุบาล ถ้าอนุบาลไม่ดีจะได้ลูกพันธุ์น้อย

ช่วงที่สำคัญที่สุดคือ ฟักตัว 3-5 วันแรก และหลัง 4-5 วันแรกก็ต้องเปลี่ยนอาหาร หากอนุบาลสำเร็จก็จะต้องดูแลตลอดเวลาใน 40 วัน โดยลูกปลาสามารถเพาะพันธุ์ได้เอง เมื่อปี 2558-2560 เป็นพันธุ์ผสมระหว่างปลาสเตอร์เจียนของรัสเซียกับเยอรมนี

ความสำเร็จวิจัย “คาเวียร์ อินทนนท์” สู่เมนูประชุมเอเปค

หลังคาร์เวียร์ ของหน่วยวิจัยฯ ได้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบในการปรุงอาหารการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ในเมนู “กระทงทองไส้ครีมซอส และไข่ปลาสเตอร์เจียน” ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความภูมิใจ

รู้สึกภูมิใจที่ประเทศไทยสามารถเลี้ยงปลาและผลิตคาร์เวียร์ได้ เพราะเป็นเมืองร้อน และยังภูมิใจมากขึ้น คาร์เวียร์ของคนไทยได้เป็นส่วนของเมนูต้อนรับผู้นำเอเปค
รสชาติถือว่าใช้ได้ เทียบเท่ากับต่างประเทศ รสชาติไม่แตกต่างกัน ถือว่าเป็นศูนย์วิจัยแรกที่เพาะเลี้ยงตั้งแต่ปี 2548

สำหรับผลิตภัณฑ์คาร์เวียร์ และเนื้อปลาสเตอร์เจียน ปัจจุบันมีจำหน่าย โดยต้องสั่งจองล่วงหน้าจากโครงการหลวง เพื่อความสด และคุณภาพของสินค้า โดยราคาเนื้อปลาปัจจุบันขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 800 กว่าบาท ส่วนคาร์เวียร์ ขายกิโลกรัมละ 60,000 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง