"บุญรอด" เด็กหญิงดรุณี หวานเหย เป็นหนึ่งในนั้น เพราะต้นทุนความยากจนที่เธอเผชิญมา ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 14 ปี ทำให้คำว่า "บ้าน" เป็นได้แค่เพิงสังกะสีผสมอิฐบล็อก ตั้งอยู่กลางไร่อ้อยไร่มันสำปะหลังห่างไกลชุมชม
แม้จะมีการแบ่งสัดส่วน ฟากหนึ่งเป็นห้องของพ่อและน้องชาย อีกด้านเป็นห้องของเธอ ประตูเป็นผ้าห่มที่กั้นเพียงสายตา แต่ไม่อาจกัน "คน" ให้เข้าถึงห้องและตัวของบุญรอดได้
กว่าจะเป็นบ้านหลังใหม่
ไม่มีประตูเลย มีแต่ผ้าแดงๆ คือเห็นครั้งแรกตกใจ เด็กผู้หญิงที่กำลังจะเป็นสาว ก็เลยมีความรู้สึกว่า เคสนี้ต้องช่วยก่อน
กฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ ศธจ.ขอนแก่น เล่าที่มาของการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นจากการแจ้งข้อมูลผ่านไลน์ของครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ต.หินตั้ง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มายัง "ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา จ.ขอนแก่น" ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.
ทีมศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนสำคัญของศูนย์ฯ นี้ ลงพื้นที่ทันที
การตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือ เกิดขึ้นหลังจากทีมเราเข้ามาดูในพื้นที่ ได้มาคุยกับพ่อ คุยกับบุญรอด ครู รวมทั้งท้องถิ่น ต้องหาข้อมูลหลายทางว่า เขาต้องการอะไร แล้วเราจะช่วยเขาในด้านไหนบ้าง
เมื่อคำตอบที่ได้ คือเรื่องความปลอดภัยของบุญรอดที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยสาว การหาบ้านใหม่ที่มั่นคงและปลอดภัยจึงเริ่มต้นขึ้น
บ้านหลังนี้ พมจ.ได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากภาคเอกชนในจังหวัด 140,000 บาท
สุภวัฒน์ หนูพริก พมจ.ขอนแก่น 1 ใน 4 กระทรวงที่ร่วมกันทำงานในภารกิจช่วยเหลือเด็กในถาวะวิกฤต เปิดเผยว่า หลังได้รับข้อมูลจากทีม ศธจ.ขอนแก่น
ทาง พมจ.ก็เดินหน้าประสานขอรับการสนับสนุนภาคเอกชนในจังหวัด 140,000 บาท แต่เมื่อตรวจสอบรายชื่อของผู้ยากไร้ ที่มีความจำเป็นในด้านที่อยู่อาศัยที่ พมจ.ดูแลอยู่ก็มีหลายกรณี จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ
สุภวัฒน์ ย้ำว่า การทำงานต้องให้ผู้ที่ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันตั้งแต่ต้นทาง
เราเอาผู้รับบริการเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วเราก็เชื่อมกัน มีการทำข้อมูลและออกแผนร่วมกัน ทั้ง 4 กระทรวงจะเกาะเกี่ยวทำงานไปด้วยกัน เราดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วม รวมทั้งท้องถิ่นและชุมชน ที่นี่จะเป็นโมเดลตัวอย่างของการทำงานร่วมกันหลังจากนี้
อีกหนึ่งกำลังหลักที่ทำให้บ้านหลังใหม่ของบุญรอดเกิดขึ้นจริงคือ กลุ่มกำนันผู้ใหญบ้านและชาวบ้านที่เป็นจิตอาสาในตำบลหินตั้ง
น.ส.วิลาวรรณ. รอดกระโทก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.หินตั้ง กล่าวว่า แรงงานที่มาช่วยก่อสร้างบ้านหลังนี้ เป็นจิตอาสาทั้งหมด ทั้งมาจากชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยแพทย์ สารวัตร และจิตอาสาชาวบ้าน ต.หินตั้ง ไม่มีใครคิดค่าแรง ทุกคนเอาความสามารถที่มีมาช่วยทำในงานที่ถนัด จนบ้านเป็นรูปร่างภายในเวลาเพียง 7 วัน
พอเตรียมที่ดินแล้ว ก็เอาฤกษ์วันที่ 27 ต.ค. ยกเสาเอก แล้วก็เริ่มก่อสร้างวันที่ 2 พ.ย. ชาวบ้านโนนทองจะเตรียมข้าวอาหารที่ได้รับบริจาคจากชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งวัด และโรงเรียน มาร่วมด้วย เป็นบ้าน วัด โรงเรียน แต่ละคนที่มาช่วยสร้างก็จะมีความเชี่ยวชาญ เช่น ช่างไฟ ช่างฉาบ มาช่วยสร้างโดยไม่คิดค่าแรง
เธอบอกว่า สุขใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของบุญรอด
รู้สึกดีที่ได้ทำให้ชีวิตเด็กหญิงคนหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาส และมีความสุข เขาจะได้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เวลาเขาตัดสินใจหรือทำอะไรจะได้มีความมั่นใจ จากเดิมที่เขาไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เท่าที่ประเมินเขามีความมั่นใจมากขึ้น มีรอยยิ้มที่สดใสของเด็ก
ก่อนหน้านี้ บุญรอดอาจไม่กล้าฝัน แต่เมื่อบ้านหลังใหม่กลายเป็นจริง เพราะเมืองแห่งนี้ไม่เคยทิ้งเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสไว้ข้างหลัง การสานฝันขิงบุญรอดในการเรียนต่อให้จบ เพื่อกลับมาเป็นครูดูแลลูกศิษย์ ก็ขยับเข้าใกล้ความจริง