ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

3 เหตุผลที่ห้ามพลาด "จันทรุปราคาเต็มดวง" คืนลอยกระทง

สังคม
8 พ.ย. 65
14:04
7,725
Logo Thai PBS
3 เหตุผลที่ห้ามพลาด "จันทรุปราคาเต็มดวง" คืนลอยกระทง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คืนนี้เตรียมชม "จันทรุปราคาเต็มดวง" คืนวันลอยกระทง เริ่มเห็นตั้งแต่เวลา 17.44 น. หากพลาดต้องรอนานถึง 3 ปี

วันนี้ (8 พ.ย.2565 ) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ (สดร.) เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ระบุว่าวันนี้ จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.02 - 20.56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถสังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้

ประเทศไทยวันนี้จะตรงกับวันลอยกระทง โดยดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลา 17.44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ จะเริ่มเห็นไดขณะเกิดคราสเต็มดวงพอดี ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทุกภูมิภาคของประเทศไทย สังเกตได้ได้จนถึงเวลา 18.41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที สำหรับ จ.เชียงใหม่ เริ่มสังเกตเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลาประมาณ 17.44 น. เป็นต้นไป


ลำดับการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย

15.02 น. เริ่มเกิดปรากกการณ์จันทรุปราคาเงามัว
16.09 น. เริ่มเกิดปรากกการณ์จันทรุปราคาบางส่วน
17.16 น. เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
17.44 น. ดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก
17.59 น. กึ่งกลางคราส
18.41 น. สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
18.49 น. สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน
19.56 น. สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว

จันทรุปราคาเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวงเกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากโลก

เงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เงามัว (Penumbra Shadow) เป็นเงาส่วนนอกสุดเมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และ เงามืด (Umbra Shadow) เป็นเงาที่มืดสนิท เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะเกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง จึงแบ่งประเภทของจันทรุปราคาได้ดังนี้

ประเภทของจันทรุปราคา

  • จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eeclipse) ดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ
  • จันทรุปราคาบางส่วน (Penumbral Lunar Eclipse) ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน จะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง
  • จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างจะลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก

ทำไมดวงจันทร์เป็น "สีแดง" ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อแสงของดวงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศโลก แสงสีน้ำเงินที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าจะถูกบรรยากาศกระเจิงออกไปหมด เหลือแต่แสงสีแดงที่มีความยาวคลื่นยาวกว่าหักเหไปตกกระทบบนผิวดวงจันทร์ จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง 

3 เหตุผลที่ต้องชม "จันทรุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย”

1.ตรงกับวันลอยกระทง
นานทีมีหนที่ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองพอดี หมายความว่า คนไทยทั้งประเทศจะได้ฉลองวันลอยกระทงไปพร้อมกับดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ นับเป็นโอกาสที่พิเศษมากเลยทีเดียว และพิเศษสุดกับพวกเราชาว NARIT ที่จัดกิจกรรมลอยกระทงชมจันทร์สีแดงอิฐแบบเฉพาะกิจ แต่งชุดไทยเก๋ ๆ มาชมจันทรุปราคาด้วยกันที่หอดูดาว พบกันได้ที่จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา 

2.เห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐตั้งแต่โผล่พ้นจากขอบฟ้า
จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าขณะอยู่ในช่วงคราสเต็มดวงพอดี หรือก็คือดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง ทำให้เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ (ช่วงเวลาเกิดคราสเต็มดวงที่สังเกตได้ในไทย ประมาณ 17:44 - 18:41 น. รวมระยะเวลา 57 นาที)

จากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงามืดเข้าสู่เงามัวของโลก เกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน จะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งบางส่วน และเมื่อดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกทั้งดวง จะเกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีความสว่างลดลงเล็กน้อย ก่อนสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 20:56 น. เมื่อดวงจันทร์โคจรออกจากเงาของโลกหมดทั้งดวง

3.ชมได้อีกที 3 ปีข้างหน้า
หลังจากนี้จะไม่มีปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในประเทศไทยไปอีก 3 ปี จะได้ชมดวงจันทร์สีแดงอิฐทั้งดวงแบบนี้อีกทีคือวันที่ 8 ก.ย.2568

 

ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง