ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้งมาเลเซีย : พลังพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาล

ต่างประเทศ
7 พ.ย. 65
09:27
668
Logo Thai PBS
เลือกตั้งมาเลเซีย : พลังพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกฯ มาเลเซีย หวังการยุบสภาครั้งนี้ จะคืนอำนาจกลับสู่พรรคใหญ่ดั้งเดิม ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียมองว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะประกอบด้วยพรรคร่วม 3 พรรคขึ้นไป ส่วนคนรุ่นใหม่มาเลเซีย ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจมากนัก

พรรคอัมโน (UMNO) เป็นพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลมาเลเซียยาวนานกว่า 60 ปี ตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2500

แต่จากคดีดังระดับโลก 1MDB ที่ทำให้ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียขณะนั้น "นาจิบ ราซัก" มีความผิดและถูกตัดสินโทษจำคุก 12 ปี

และในการเลือกตั้งปี 2561 พรรคอัมโนต้องเสียเก้าอี้ฟากฝั่งรัฐบาล ให้กับกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) ที่ชนะการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมี "มหาเธร์ โมฮัมหมัด" เป็นนายกฯ 

นั่นคือความพ่ายแพ้ครั้งแรกของพรรคอัมโน และก็ถือว่าเป็นครั้งแรกของพรรคร่วมรัฐบาลเล็กๆ อีกหลายพรรคที่ต้องเข้ามาบริหารประเทศจนเกิดปัญหาภายในรัฐบาลกันเองขึ้นเป็นระยะๆ และทำให้ นายกฯ ต้องเปลี่ยนถึง 3 คนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ไทม์ไลน์ นายกฯ 3 รายภายใน 4 ปี

2561-2563 : มหาเธร์ โมฮัมหมัด (ลาออกจากตำแหน่ง)

ในปี 2561 มหาเธร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สมัยที่ 2 (ครั้งแรกเมื่อปี 2524-2546) พ่วงด้วยตำแหน่งนายกฯ ที่อายุมากที่สุดในโลก โดยในขณะนั้นเขามีอายุ 93 ปี แต่หลังจากบริหารราชการแผ่นดินได้เพียงปีเศษๆ มหาเธร์ก็ประกาศลาออก เนื่องจากความขัดแย้งของสถานการณ์การเมืองภายในมาเลเซียนั่นเอง

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

2563-2564 : มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน (ลาออกจากตำแหน่ง)

หลังจากการประกาศลาออกของ มหาเธร์ อย่างกะทันหัน ทำให้ มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน ต้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่อทันที แต่ มุฮ์ยิดดิน ก็ยังคงเผชิญกับความขัดแย้งการเมืองภายใน และวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มาเลเซียมีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 20,000 คน/วัน ทำให้ มุฮ์ยิดดิน ตัดสินใจลาออกตาม มหาเธร์ ไปอีกคน

มูห์ยิดดิน ยัสซิน

มูห์ยิดดิน ยัสซิน

มูห์ยิดดิน ยัสซิน

2564- ปัจจุบัน : อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ (ประกาศยุบสภา)

เข้ารับตำแหน่งได้เพียง 1 ปี 51 วัน ก็ประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เนื่องจากปัญหาความแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน

อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ

อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ

อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ

  • 10 ต.ค. อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศยุบสภา ทำให้มาเลเซีย ต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นก่อนกำหนดการเดิม ที่รัฐบาลจะหมดวาระในเดือน ก.ย.2566 หรืออีกราว 1 ปีข้างหน้า
  • 20 ต.ค. ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของมาเลเซีย (EC) ประกาศการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย จะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ย.2565
  • 5 พ.ย. พรรคการเมืองเริ่มหาเสียง เพื่อให้ประชาชนสามารถลงคะแนนเสียงล่วงหน้าได้ในวันที่ 15 พ.ย.

การเมืองมาเลเซียที่เปลี่ยนไป

หลังจากความพ่ายแพ้ของพรรคอัมโนและชื่อเสียงเรื่องการคอร์รัปชันของอดีตนายกฯ นาจิบ ทำให้รูปแบบการเมืองของมาเลเซียเปลี่ยนไป ชัยวัฒน์ มีสันฐาน นักวิชาการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อสังเกตไว้ 

ตอนนี้ทุกคนสามารถไปอยู่กับฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ได้ เพราะไม่มีตัวแปรเป็นพรรคใหญ่ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จและเด็ดขาดเหมือนยุคก่อนแล้ว 

เช่น ช่วงเปลี่ยนนายกฯ จาก มหาเธร์ โมฮัมหมัด เป็น มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน ก็เกิดจาก มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน นำ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลย้ายข้างไปจับมือกับฝ่ายค้าน และสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และทำให้ตัวเขาเองเข้ารับตำแหน่ง นายกฯ ต่อจาก มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ทันที 

เช่นเดียวกับพรรคอัมโนที่เป็นฝ่ายค้านในยุค มหาเธร์ แต่เมื่อ มุฮ์ยิดดิน ย้ายมาเข้าร่วมและจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ทำให้พรรคอัมโนเป็นเสียงข้างมากฝั่งรัฐบาลทันที จนกระทั่งวิกฤตโควิด-19 ทำให้พรรคอัมโนถอนการสนับสนุน มุฮ์ยิดดิน และดันให้ อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ ขึ้นนั่งนายกฯ แทน

นักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียหลายคนมองเห็นตรงกันว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนทำให้ นายกฯ มาเลเซียคนล่าสุดต้องประกาศยุบสภา เป็นแผนการต้องการกลับมารวบรวมอำนาจไว้ที่พรรคใหญ่พรรคเดียว "พรรคอัมโน" แต่ก็มองต่อไปว่า หลังจากนี้มาเลเซียอาจจะไม่สามารถแต่งตั้งรัฐบาลจากพรรคใหญ่พรรคเดียวได้อีกต่อไป

คาดการณ์ว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม และมีอย่างน้อย 3 พรรคที่จับมือกันเพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภา

ในขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูมรสุมของมาเลเซียทำให้เป็นอุปสรรคต่อการออกมาใช้สิทธิของประชาชน

มาเลเซียแก้ กม. คนรุ่นใหม่ไปใช้สิทธิมากขึ้น

ในปี 2562 รัฐสภามาเลเซียแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 ปรับเปลี่ยนอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในระดับชาติ และในระดับรัฐ จากอายุ 21 ปีขึ้นไป เป็นอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่งผลให้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเมื่อปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 14.9 ล้านคน เพิ่มเป็นจำนวน 21 ล้านคน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นราว 6 ล้านคน 

แต่นักวิเคราะห์มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหมืองช่วงปี 2561 ที่คนส่วนใหญ่ออกมาใช้สิทธิเพื่อต่อต้าน นาจิบ ราซัก และต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศ

ข้อมูลจากศูนย์เมอร์เดก้า (Merdeka Center) บริษัทสำรวจความคิดเห็น ทำการสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีเพียงร้อยละ 40 ที่จะไปเลือกตั้ง และประชากรอายุ 18-30 ปี ให้ความสนใจเรื่องการเมืองเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือไม่สนใจการเมืองโดยให้เหตุผลว่า การเมืองมาเลเซียเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไป  

ในขณะที่ทางการมาเลเซีย ขอความร่วมมือข้าราชการและประชาชนงดออกนอกประเทศในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย 

ไทยกับการเลือกตั้งมาเลเซีย

ด้านเศรษฐกิจ มีผลกระทบกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ในวันที่ 4 พ.ย.2565 ที่หาดสมิหลา จ.สงขลา กรุ๊ปทัวร์พานักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาเที่ยวในไทยได้น้อยลง พ่อค้า แม่ค้า ในพื้นที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รายได้ลดลงมากแทบจะใกล้เคียงกับช่วงที่โควิด-19 ระบาด แต่ก็เข้าใจว่าเป็นช่วงที่ทางการมาเลเซียขอความร่วมมือไม่ให้คนออกนอกประเทศเพราะใกล้เลือกตั้ง 

ส่วนการเมือง เรื่องการเจรจาสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นักวิเคราะห์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียให้ความสนใจกับเรื่องนี้เบาบางลง เพราะต้องจัดการกับปัญหาในประเทศและเสถียรภาพภายในรัฐบาลตัวเองให้ได้ก่อน แต่ก็คาดการณ์ได้ว่า ไม่ว่าใครจะได้มาเป็นผู้นำมาเลเซีย นโยบายเรื่องนี้ก็คงไม่ต่างกัน เพราะกลุ่มการเมืองของมาเลเซียยังคงมาจากกลุ่มคนเดิมๆ เพียงแค่แตกแยกย่อยเป็นพรรคต่างๆ ออกมาเท่านั้นเอง 

 

ที่มา : เฟซบุ๊ก ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, BBC, The South China Morning Post, The Strait Times, Wikipedia

ข่าวที่เกี่ยวข้อง