กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นให้คำจำกัดความบุคคลประเภท ฮิคิโคโมริ ว่าเป็นบุคคลที่ปฏิเสธการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เลือกที่จะอยู่คนเดียว ไม่ไปโรงเรียน ไม่ไปทำงาน มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
ฮิคิโคโมริ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-64 ปี (65 ปีขึ้นไป ญี่ปุ่นจัดให้เป็นผู้สูงวัย) ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คาดการณ์ว่าในประเทศญี่ปุ่น มี ฮิคิโคโมริ มากถึง 1.2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 1.6 ของประชากรประเทศ (ประมาณ 130 ล้านคน)
แต่หากมองเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน (15-64 ปี) จะมี ฮิคิโคโมริ มากถึงร้อยละ 2.6 ฮิคิโคโมริ บางคน เลือกที่จะแยกตัวออกจากสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี บางคนอยู่อย่างโดดเดี่ยวมานานถึง 30 ปี
ทำไมเลือกเป็น ฮิคิโคโมริ
คนวัยเรียน-ทำงานในญี่ปุ่นหลายคนเลือกจะเป็น ฮิคิโคโมริ เพราะพวกเขารู้สึกว่า “เป็นความรู้สึกที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง”
ชายวัย 24 ปี คนหนึ่งเลือกจะเป็น ฮิคิโคโมริ เขาเดินออกจากครอบครัว มาอาศัยอยู่คนเดียวใน จ.ชิบะ เขาต้องการเป็นนักร้อง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว เพราะครอบครัวต้องการให้ทำธุรกิจ หลังจากที่เขายอมทำตามคำขอของครอบครัวแล้ว แต่เมื่อทำงานมากๆ จนรู้สึกเครียด จึงเลือกจะออกมาใช้ชีวิตอยู่คนเดียวและขังตัวเองอยู่แต่ในห้องเป็นเวลา 2 ปีแล้ว
ชายวัย 43 ปี เลือกจะเป็น ฮิคิโคโมริ มา 3 ปีแล้ว เพราะหลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ก็ไม่สามารถหางานได้ตามที่ตนเองตั้งความหวังไว้ได้ จึงรู้สึกว่าสังคมนี้ไม่ยุติธรรมต่อชีวิตของเขา
ส่วนชายอีกคนหนึ่ง ในปี 2555 เขาเลือกออกมาอาศัยที่อพาร์ตเมนต์คนเดียวด้วยปัญหาสุขภาพ และบอกว่าการอยู่ที่บ้านกับครอบครัวนั้น ไม่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นเลย จนกระทั่งในปี 2556 เขาเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวภายในห้องพัก หลังจากนั้นอีก 2 เดือนครอบครัวถึงได้ทราบเรื่องนี้
แล้วฮิคิโคโมริยังชีพด้วยอะไร
คำตอบ คือ ด้วยเงินบำนาญของพ่อแม่ ด้วยความที่เลือกจะแยกตัวออกจากสังคมเป็นเวลานาน ทำให้ฮิคิโคโมริไม่สามารถกลับเข้าสู่สังคมการทำงานได้ ทำให้ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ใดๆ ทางเดียวที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ คือ ขอเงินจากพ่อแม่ของตัวเอง จนทำให้เกิด “ปัญหา 80-50” ตามมา นั่นคือ คนวัย 80 ปี ที่ต้องเลี้ยงดูคนวัย 50 ปี จะทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีก เช่น
พ.ค.2562 เมืองคาวาซากิ ชายวัยกลางคนคนหนึ่ง ถือมีดเข้าสู่ฝูงชนที่กำลังยืนรอรถประจำทางและแทงกระหน่ำ เหตุการณ์นั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 18 คน ทราบภายหลังว่าผู้ก่อเหตุเป็น ฮิคิโคโมริ ที่รู้สึกโกรธแค้นกับความไม่เป็นธรรมในสังคม
หรืออดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและประมงของญี่ปุ่นวัย 76 ปี ผู้เลือกที่จะปลิดชีพลูกชายตัวเองซึ่งเป็น ฮิคิโคโมริ วัย 44 ปี เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยไว้ก็อาจไปทำร้ายผู้อื่นได้
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทั้งๆ ที่ต้นเหตุคือ
ความรู้สึกของพวกเขาที่มองว่า สังคมที่เขาอยู่นั้นไม่ปลอดภัย
ฮิคิโคโมริและปัญหาทางเศรษฐกิจ
“ญี่ปุ่น” ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผู้สูงอายุมีอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก โดยผู้ชายอยู่ที่ 81 ปี ผู้หญิงอยู่ที่ 87 ปี แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่า “สังคมสูงวัย” ของญี่ปุ่นนั้นกำลังมีจำนวนที่มากขึ้นและกว้างขึ้นเช่นกัน
ปัญหาอีกข้อคือ กลุ่มวัยทำงานของญี่ปุ่นนั้นกลับมีจำนวนที่ลดลง และหนุ่มสาวเริ่มที่จะไม่แต่งงาน เลือกจะอยู่คนเดียวมากขึ้น จนขณะนี้ญี่ปุ่นถูกขนานนามว่า “3 ทศวรรษทางเศรษฐกิจที่หายไป” เพราะปัญหาประชากรในประเทศนั่นเอง
ฮิคิโคโมริ เองนั้นก็ถูกรัฐดูแลทางอ้อมเช่นกัน เพราะในขณะที่รัฐต้องดูแลกลุ่มผู้สูงอายุด้วยเงินบำนาญ แต่พ่อแม่ของ ฮิคิโคโมริ ต้องใช้เงินจำนวนนั้นแบ่งให้ลูกของพวกเขาด้วย นอกจากจำนวนประชากรสูงวัยที่มีมากถึงร้อยละ 28.4 ของประเทศแล้วนั้น รัฐยังต้องเลี้ยงคนอีก ร้อยละ 1.6 ของประเทศ ที่ควรเป็นวัยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ แต่เลือกที่จะหันหลังให้ ให้ครอบครัวรวมถึงรัฐดูแลไปอีกนาน
อ่านข่าวเพิ่ม : สลด! ชายวัย 81 ผลักภรรยาตกน้ำเสียชีวิต เผยปม "เหนื่อยแล้ว"
ที่มา : Bloomberg, CNN, Wikipedia, Witness, ลงทุนแมน