ต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวในการประชุมเอเปคป่าไม้ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 23-25 ส.ค.2565 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ โดยในวันนั้นสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามสมาชิกพีมูฟ ได้ประกาศจะเคลื่อนไหวในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ในวันที่ 17-19 พ.ย. ที่จะถึงนี้
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2565 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง “จุดยืนไม่เห็นด้วยกับการประชุม APEC และโมเดล BCG ในเงื้อมมือรัฐบาลเผด็จการและรัฐราชการอำนาจนิยม ที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม”
เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่ประเทศไทยกำลังจะจัดให้มีการประชุมในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 รัฐบาลไทยได้พยายามนำเสนอหัวข้อหลักในการประชุมคือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สมดุล” หรือ“Open. Connect. Balance” โดยชูแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG) นั้น
ล้วนเป็นเป้าหมายที่เลื่อนลอยและตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลไทย โดยเฉพาะเกือบหนึ่งทศวรรษภายใต้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานราชการไทยที่อาศัยกลไกที่พวกเขามองว่า เป็นรัฐเผด็จการสร้างเครื่องมือทางนโยบาย กฎหมายที่มุ่งการผูกขาดอำนาจและสร้างผลกระทบมหาศาลต่อสังคมไทย
หากพิจารณาการผลักดัน “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการประชุม APEC ครั้งนี้ มีการระบุสาระสำคัญหลัก 4 ประการ ประกอบด้วย
1.การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศที่รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
2.การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
3.การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 4.การลดและบริหารจัดการของเสีย จะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่สวนทางกับผลงานภาพรวมของรัฐบาลที่ได้ส่งประเทศไทย ขึ้นแท่นอันดับ 1 ประเทศแห่งความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดของโลก โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีกลุ่มทุนน้อยใหญ่และเครือข่ายชนชั้นนำที่ต่างพากันเจริญเติบโตสั่งสมความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน บนการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจบนทรัพยากรส่วนรวม
รัฐบาลมุ่งอนุมัติโครงการน้อยใหญ่ที่มีกลุ่มทุนและรัฐราชการเป็นศูนย์กลางบนข้ออ้างประโยชน์สาธารณะท่ามกลางการสูญเสียฐานทรัพยากรส่วนรวมอย่างถาวร โดยตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้รับผลกระทบ ที่แบกรับความสูญเสียไม่ต่างจากยุคอดีต ขณะเดียวกันกลับไม่สนใจต่อการดำเนินนโยบาย
กฎหมายที่ละเมิดสิทธิการอยู่อาศัยทำกิน แย่งชิง กีดกัน ขับไล่ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมืองออกจากที่ดิน ผืนป่าและท้องทะเล พร้อมจะตีตราให้ประชาชนที่ด้อยอำนาจเป็นดัง “แพะรับบาป” ในกระแสสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นธรรม
ขปส. เห็นว่า ด้วยทิศทางการใช้อำนาจของรัฐบาลไทยเต็มไปด้วยปัญหาธรรมาภิบาล ความโปร่งใสและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อเนื่องขณะนี้ จะไม่ก่อประโยชน์แท้จริงแก่ประชาชนคนไทยและประชาคมโลกความพยายามผลักดันโมเดล BCG ภายใต้เงื้อมมือรัฐบาลและรัฐอำนาจนิยมของไทยในเวทีประชาคม APEC ในครั้งนี้ จึงไม่ต่างจากการหลอกลวงประชาคมโลก
“คงเป็นได้เพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ที่กำลังจะผลักดันให้ที่ดินและฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ประชาชนต่างร่วมดูแลรักษาที่สัมพันธ์กับคุณค่าการดำรงชีวิตให้กลายเป็นสินค้าในระบบตลาดเศรษฐกิจทุนนิยมที่ผูกขาดโดยกลุ่มทุนน้อยใหญ่และอำนาจรัฐราชการยุคเผด็จการ แย่งยึดสิทธิบนฐานทรัพยากรส่วนร่วมเพื่อค้ากำไร สร้างกลไก “ฟอกเขียว” ให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ สามารถดำเนินกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป โดยอาศัยข้ออ้างด้าน “คาร์บอนเครดิต” ปู้ยี่ปู้ยำระบบนิเวศจนกลายเป็นการสร้างโศกนาฏกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมยุคใหม่”
แถลงการณ์ระบุ
ดังนั้น ขปส. ในนามเครือข่ายประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงขอประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการประชุม APEC และความพยายามผลักดันโมเดล BCG โดยรัฐบาลไทย
และขอเชิญชวนประชาชนทั้งหลายให้ร่วมกันจับตาและคัดค้านอย่างถึงที่สุด รวมถึงส่งเสียงถึงประชาคมโลกว่าอย่าได้ร่วมมือและเป็นเครื่องมือรัฐบาลเผด็จการในการคุกคามและยึดกุมระบบเศรษฐกิจ ฐานทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยเป็นอันขาด