ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Use by - Best before ทำคนสับสน กินได้หรือทิ้งดี ?

ไลฟ์สไตล์
11 ต.ค. 65
08:17
4,659
Logo Thai PBS
Use by - Best before ทำคนสับสน กินได้หรือทิ้งดี ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"วันที่"บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ กำลังสร้างความสับสนให้คน จนหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกา กำลังพิจารณาเรื่องวันที่ บนสินค้าต่างๆ เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น

นอกจากปริมาณอาหาร ส่วนประกอบต่างๆ อีกหนึ่งข้อมูลบนผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะตรวจสอบก่อนซื้อเสมอ คือ ป้ายบอกวันที่ ทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ

แต่ความหลากหลายทั้งคำว่า Use by, Best by, Best before และอีกหลายๆ คำ ทำให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความสับสน และทิ้งสินค้า ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ไปแบบเปล่าประโยชน์

Dana Gunders ผู้อำนวยการ ReFED องค์กรไม่แสวงกำไรในนิวยอร์กที่ศึกษาปัญหาขยะอาหาร บอกว่าปัญหาคือประชาชนเข้าใจสิ่งที่ป้ายจะสื่อผิดไป จนนำไปสู่ปริมาณขยะอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

จริงๆ คำว่า Best before และอีกหลายๆ คำ ผู้ผลิตจัดทำขึ้นเพื่อรับประกันความสดใหม่ของสินค้า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการบริโภค

ไม่เหมือนคำว่า Use by ที่ใช้บอกวันหมดอายุ ซึ่งมักพบได้ตามอาหารสดที่เน่าเสียได้อย่างพวกเนื้อ และผลิตภัณฑ์นมต่างๆ


ปัญหานี้พบได้ในอีกหลายประเทศ อย่างในอังกฤษ หลายๆ ร้านนำป้าย Best before ออกจากห่อบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้ ขณะที่สหภาพยุโรปเองคาดว่าจะประกาศกฎหมายเกี่ยวกับ ป้ายบนผลิตภัณฑ์อาหาร ฉบับปรับปรุงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งตอนนี้กำลังพิจารณาการยกเลิกคำว่า Best before ทั้งหมด

แต่ในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้พุ่งเป้าที่จะให้ยกเลิกการใช้คำว่า Best before แต่ต้องการให้กำหนดมาตรฐานการใช้คำดังกล่าว เช่นเดียวกับผู้บริโภคหลายๆ คนที่มองว่า ป้ายบอกวันที่ ช่วยให้เกิดความมั่นใจในการซื้อมากขึ้น

จากการทำการสำรวจ ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจคำว่า
Best by บอกคุณภาพ ความสดใหม่ของสินค้า
Use By บอกวันหมดอายุของสินค้า

จากการประเมินขององค์การสหประชาชาติพบว่า ในแต่ละปี ขยะหรือของเสียจากอาหารกว่าร้อยละ 17 มาจากภาคครัวเรือน
ขณะที่ ReFED ประเมินว่าร้อยละ 7 ของขยะอาหารในสหรัฐฯ หรือ 4 ล้านตัน/ปี มาจากการทิ้งอาหาร เนื่องจากความสับสนเกี่ยวกับป้ายบอกวันหมดอายุ


นอกจากจะเสียอาหารไปเฉยๆ ยังส่งผลให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรต่างๆ ด้วย ทั้งน้ำ ที่ดิน รวมถึงแรงงาน เพราะกระบวนการผลิตต้องพึ่งพาหลายส่วน อีกทั้งอาหารที่ถูกทิ้งตามผืนดินต่างๆ ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

อีกหนึ่งประโยชน์หากมีข้อกำหนดเกี่ยวกับป้ายบอกวันหมดอายุที่ชัดเจนมากขึ้นเลย คือ หลายๆ คน รวมทั้งหน่วยงานที่รับบริจาคอาหาร จะได้มั่นใจมากขึ้นว่า อาหารต่างๆ ที่ระบุวันที่ ซึ่งไม่ใช่วันหมดอายุไว้ สามารถบริโภคได้หรือบริจาคต่อได้

ซึ่งในสหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายของรัฐบาลกลางกำหนดเกี่ยวกับป้ายวันที่บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผู้ผลิตมีสิทธิ์ตัดสินใจเองว่า อาหารของตนรับประทานถึงตอนไหนถึงจะดีที่สุด แต่มีเพียงนมผงเด็กเท่านั้นที่จำเป็นต้องมีวันหมดอายุกำหนดไว้

ขณะที่เจ้าของร้านชำบางคนบอกว่า จริงๆ อาหารบางอย่างบริโภคต่อได้หลังจากวันที่กำกับไว้ อย่างนม บริโภคต่อได้ 1 สัปดาห์ หลังจากวันหมดอายุ (Use by)ที่ระบุไว้ และอาหารกระป๋องต่างๆ สามารถรับประทานได้เป็นปีๆ หลังจากวันที่ที่ระบุไว้หลังคำว่า Best before

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง