วันนี้ (29 ก.ย.2565) ว่าที่ร้อยตรี ธนสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมอุตุนิยมวิทยา แถลงสถานการณ์ผลกระทบจากพายุโนรู โดยระบุว่า ช่วงเที่ยงวันนี้พายุโนรูมีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม โดยเคลื่อนตัวช้าลงอยู่ที่ประมาณ 10 กม./ชม. ไปทางตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ความเร็วลมศูนย์กลางยังเป็นพายุดีเปรสชันอยู่ โดยมีการปรับตัวและกำลังอ่อนกำลังลง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามในช่วงบ่ายถึงค่ำวันนี้ว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงหรือไม่
คาดว่า ศูนย์กลางของพายุจะเคลื่อนไปอยู่บริเวณรอยต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน โดยมุ่งหน้าไปสู่ จ.ขอนแก่น ไปสู่ จ.ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ก่อนเข้าสู่ภาคเหนือตอนล่าง
ผลกระทบในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสานตอนล่าง และอาจมีฝนตกหนักถึงนักมากในบางพื้นที่
สำหรับภาคใต้มีฝนตกมากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมที่มีกำลังแรง เป็นผลทางอ้อมจากพายุโนรู
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 22 เวลา 13.00 น. เรื่อง พายุดีเปรสชัน “โนรู” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 29 ก.ย.2565
ภาคเหนือ : จ.ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก
และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม
ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
ภาคกลาง : จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม
รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จ.นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง
พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 30 ก.ย.2565
ภาคเหนือ : จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร
พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์
ภาคกลาง : จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จ.ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 1 ต.ค.2565