วันนี้ (27 ก.ย.2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตกรณีโควิด-19 ฉบับที่ 2
โดยจะมีผลให้การใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่หรือ UCEP สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดง
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ของไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) ซึ่งการใช้สิทธิ UCEP ต้องกลับเข้าสู่ระบบปกติ
รวมถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันด้วย
อ่านข่าวเพิ่ม เผยโฉมวัคซีนโควิด "สเปรย์พ่นจมูก" เตรียมวางขาย 1 ต.ค.นี้
เช็กเงื่อนไขสิทธิ UCEP อะไรได้-ไม่ได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งใช้สิทธิ UCEP ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป ได้มีการปรับปรุงในหลายส่วน เช่น
- การกำหนดให้ยกเลิกค่าจ่ายบางรายการในหมวดค่าห้อง และค่าอาหาร ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา
- รวมถึงกำหนดให้กรณียา Molnupiravir Remdesivir และ Nirmatrelvir/ritonavir ให้เบิกยาหรือค่าใช้จ่ายจากกองทุนของผู้มีสิทธิ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม ส่วนราช การหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กองทุนของผู้มีสิทธิกำหนด
นอกจากนี้ ให้กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ต่อไป
อ่านข่าวเพิ่ม
เช็ก 3 เงื่อนไข ผู้ป่วยโควิดเข้าเกณฑ์ UCEP Plus
อนุมัติงบกลาง 986 ล้าน หนุนค่าตอบแทนบุคลากรการแพทย์-สธ.เพิ่มเติม
ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อคุม "โควิด" ฉากทัศน์ใหม่ป่วยตายไม่เกิน 0.01%