วันนี้ (27 ก.ย.2565) ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ตรวจยึดของกลางเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 กว่า 20 รายการ
จากการเข้าตรวจตรวจค้นสถานที่ผลิต จัดเก็บและจำหน่าย รวม 7 จุด ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี, มหาสารคาม และพระนครศรีอยุธยา พบอุปกรณ์ในการผลิต และผลิตภัณฑ์เสริม 18 รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 2 รายการ พร้อมจับผู้ต้องหา 3 คน
หลังจากที่ ตำรวจ ปคบ. ตรวจสอบการโฆษณาประกาศขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยโฆษณาชวนเชื่อว่า ปลอดภัยไม่ผิดกฎหมายและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่เมื่อนำไปตรวจสอบ พบวัตถุออกฤทธิ์ 2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน (desoxy-D2PM) ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
เจ้าหน้าที่ สืบสวนจนทราบว่าโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยมี บริษัทหนึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้ผลิต แล้วมาว่าจ้าง นายอนิวัต หรือ นารา เป็นอินฟลูเอนเซอร์หลักในการโฆษณาและขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีนายเมธากร เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่รับโอนชำระค่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับ นางนิชกานต์
จากการตรวจสอบพบว่า บุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า ผลิต จำหน่าย วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) แต่อย่างใด ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับ นายเมธากร นายอนิวัต และ นางสาวนิชกานต์ ในข้อหา ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า
ส่วนอีกคดี ตำรวจ ปคบ. จับเครือข่ายสร้างข้อมูลเท็จ หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพแก่ประชาชน หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. ว่ามีการแอบอ้างชื่อโรงพยาบาลดัง ในการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ และมีบทความเนื้อหาที่เป็นเท็จ เพื่อโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และสมุนไพรต่าง ๆ โดยปรากฏเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 เว็บไซต์ (5 ผลิตภัณฑ์) เช่น แผ่นปิดตารักษาโรคตา ยาหยอดตารักษาโรคตา สติ๊กเกอร์ปิดท้องลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์สเปรย์รักษาริดสีดวง ยาสระผม รักษาผมหงอก
โดยมีประชาชนหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ตำรวจจึงร่วมกับ ปคบ. เข้าตรวจค้นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จำนวน 2 แห่ง ซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้า พร้อมยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ รวม 21 รายการ
การสืบสวนขยายผลเบื้องต้น พบว่า ผู้กระทำผิดกลุ่มนี้เป็นคนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และมีการติดต่อบริการรับฝากและส่งสินค้าตามบริษัทต่าง ๆ จากนั้นสินค้าจะถูกส่งมาจากประเทศจีนเพื่อมาจำหน่ายผ่านบริการดังกล่าวในประเทศไทย