วันนี้ (26 ก.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเทศกาลกินเจวันแรก โดยปีนี้หลายพื้นที่มีคนออกมาซื้ออาหารเจกันอย่างคึกคัก สวนทางกับตลาดบางแห่งที่จำนวนร้านค้าลดลง เหตุผลสำคัญมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
แม่ค้าอาหารเจในตลาดสดย่านบางนา กล่าวว่า ขายอาหารเจมาประมาณ 20 ปีแล้ว ปีนี้ (2565) ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ สูงขึ้นมาก แต่ไม่สามารถปรับราคาเพิ่มขึ้นได้ เพราะอาจกระทบกับยอดขาย
เช่นเดียวกับแม่ค้าอาหารเจอีกคนในตลาดสดย่านบางนา พูดตรงกันว่า ต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมาก ทำให้ต้องเปลี่ยนหรือลดบางเมนู เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาสินค้า
นางสุวดี สิทธิผลกุล ผู้จัดการทั่วไป ส่วนบริหารกิจการตลาดสามย่าน ระบุว่า แผงขายอาหารเจลดลงไปมาก เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่วนราคาสินค้าใกล้เคียงกับปี 2564 แต่จะไม่ต่ำลงไปกว่านี้ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ สูงขึ้น ซึ่งตลาดพยายามขอความร่วมมือกับผู้ค้าอาหารเจในการดูแลราคาและคุณภาพของสินค้า
ด้านนายธวัชชัย พิทักษ์ธนางกูร ผู้จัดการสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตร กล่าวว่า ผักที่ใช้ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ ราคาเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 จากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน โดยคาดว่าระดับราคาจะสูงขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความเห็นประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจปี 2565 กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 60 มองว่าราคาอาหารและวัตถุดิบปรุงอาหารเจแพงขึ้น
ขณะที่ความคึกคักของเทศกาลกินเจปี 2565 เทียบกับปี 2564 เกินครึ่งคิดว่าไม่เปลี่ยนแปลง แต่อีกร้อยละ 26.2 คิดว่าจะคึกคักน้อยลง จากปัญหาค่าครองชีพสูง, เศรษฐกิจไม่ดี, รายได้ลด, ของแพง ส่วนค่าใช้จ่ายโดยรวมช่วงเทศกาลกินเจปี 2565 จะมีมูลค่า 42,235 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.2
สำหรับทัศนะต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 92.8 มองว่าไม่เหมาะสม และเมื่อถามว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ อันดับ 1 ครึ่งหลังปี 2566 ตามด้วยช่วงไตรมาส 2/2565 และไตรมาส 1/2565
นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องของเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ปัญหาค่าครองชีพ ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ และมีเงินช่วยเหลือ เป็นต้น