"จักรวรรดิอังกฤษกับดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน" เป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศนี้ในอดีตได้เป็นอย่างดี และราชวงศ์อังกฤษยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประเทศที่เคยอยู่ใต้อาณานิคมหลายประเทศ แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงเริ่มเห็นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแคริบเบียน
ในฐานะคนที่เคยอยู่ใต้อาณานิคมของระบบอังกฤษ ฉันไม่รู้สึกสงสารหรือเสียใจใดๆ เพราะฉันคิดว่ารัฐบาลอังกฤษและราชินีได้ปฏิบัติกับพวกเราแย่มาก พวกเขาได้ประโยชน์และได้ผลกำไรมากมายก่ายกองจากพวกเราในแคริบเบียน ในฐานะชาวแอฟริกันและจากทวีปนี้ และพวกเขาไม่เคยขอโทษ หรือเสนอการชดเชยใดๆ ต่อสิ่งที่ทำลงไป
เสียงสะท้อนหนึ่งของชาวจาเมกา เมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยความเห็นในลักษณะนี้ดังมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากนับแค่ในภูมิภาคแคริบเบียนจะมี 8 ประเทศ จากทั้งหมด 12 ประเทศสมาชิกในเครือจักรภพ ที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรเป็นพระประมุขแห่งรัฐ
ผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยองค์กรในจาเมกา ชี้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป กระแสการเรียกร้องให้จาเมกาแยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งจะสามารถเลือกผู้นำแห่งรัฐ หรือ head of state ได้เอง เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวเลขสนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐเพิ่มจาก 44% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ปี 2012) เป็น 56% เมื่อเดือน ก.ค.2022 ซึ่งชาวจาเมกาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวต้องการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า และหลุดพ้นจากอดีตอันเลวร้ายสมัยอยู่ใต้อาณานิคมยาวนานมากกว่า 300 ปี
Antigua and Barbuda เตรียมลงประชามติเป็นสาธารณรัฐ
จาเมกา ไม่ใช่ประเทศเดียวในแคริบเบียนที่รู้สึกเช่นนี้ ยังมีอีกอย่างน้อย 5 ประเทศที่มีแผนจะเปลี่ยนตัวเองเป็นสาธารณรัฐ
ล่าสุด นายกรัฐมนตรีแอนติกา แอนด์ บาร์บูดา ประกาศเตรียมจัดการลงประชามติว่าจะเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ ภายใน 3 ปี แม้กระแสสังคมจะสนับสนุน แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะมีเรื่องข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง
นับตั้งแต่ต้นปี 2022 สมาชิกในราชวงศ์อังกฤษ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในแคริบเบียนอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งที่กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สุด คือการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเบลิซ จาเมกาและบาฮามาส ของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท เมื่อเดือน มี.ค. เนื่องจากเผชิญกับการประท้วงของชนพื้นเมือง จนทำให้ต้องยกเลิกบางกำหนดการ
ผู้ประท้วงขอให้ทั้ง 2 พระองค์ขอโทษอย่างเป็นทางการ เนื่องจากราชวงศ์อังกฤษมีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้คนเป็นทาส และปฏิบัติต่อชาวแอฟริกันและชนพื้นเมืองในแคริบเบียนอย่างโหดร้ายในอดีต ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การเสด็จพระราชดำเนินเยือนในครั้งนั้น ได้จุดชนวนการถกเถียงขึ้นในสังคมเกี่ยวกับบทบาทของราชวงศ์อังกฤษ
การเป็นสาธารณรัฐ แต่ยังคงอยู่ในเครือจักรภพไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศในเอเชียที่คนมักนึกถึงคือ อินเดีย ขณะที่ในแคริบเบียนขณะนี้มีอยู่ 4 ประเทศที่ประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐแล้ว ซึ่งมักเกิดขึ้นไม่กี่ปีหลังได้รับเอกราช
บาร์เบโดส กลายเป็นสาธารณรัฐใหม่ของโลกเมื่อปลายปี 2021 นักวิเคราะห์มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจจุดประกายให้ประเทศอื่นๆ ในแคริบเบียนเร่งกระบวนการแยกตัว
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เคยมีพระราชดำรัสในขณะดำรงพระอิสริยยศเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ โดยได้ทรงเข้าร่วมในพิธีประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐ และมีพระราชดำรัสส่วนหนึ่งว่า
จากวันที่มืดมนที่สุดในอดีตของเรา และความโหดร้ายที่น่ากลัวของการทำให้คน ซึ่งเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ของเราไปตลอดกาล ประชาชนของเกาะแห่งนี้ได้ฝ่าฟันในวิธีทางของพวกเขาเอง ด้วยความทรหดอย่างอัศจรรย์ การเลิกทาส รัฐบาลปกครองตนเอง และเอกราช คือปลายทางของพวกท่าน เสรีภาพ ความยุติธรรม และการกำหนดชะตาของตัวเอง เป็นเครื่องชี้ทางของพวกท่าน
พระราชดำรัสนี้อาจสะท้อนถึงจุดยืนของราชวงศ์อังกฤษ ที่จะสนับสนุนการตัดสินใจของประชาชนในประเทศอดีตอาณานิคม
แม้จะมีประเทศที่ต้องการเป็นสาธารณรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนความร่วมมือภายใต้เครือจักรภพ ทำให้ประเทศสมาชิกที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ต้องการแยกตัวจากกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังมีสมาชิกเพิ่มอีก 2 ประเทศจากแอฟริกา ซึ่งเดิมเป็นอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส
อ่านข่าวอื่นๆ
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตแล้ว
การเสด็จพระราชดำเนินครั้งสุดท้ายของ "ควีนเอลิซาเบธที่ 2"
พระราชดำรัสแรก "พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3" กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งอังกฤษ
สถาปนา "สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3" เป็นพระประมุขแห่งนิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย