ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ด่วน! กรมชลฯ ปรับระบายน้ำรับน้ำเหนือ 1,400 ลบ.ม./วินาที

ภัยพิบัติ
18 ส.ค. 65
19:26
418
Logo Thai PBS
ด่วน! กรมชลฯ ปรับระบายน้ำรับน้ำเหนือ 1,400 ลบ.ม./วินาที
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาทีแล้วรองรับน้ำเหนือไหลหลาก คาดพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเช่น คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล และอ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำเพิ่มสูงอีก 0.20-0.40 เมตร

วันนี้ (18 ส.ค.2565) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,430 ลบ.ม.ต่อวินาที ประกอบกับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี และลำน้ำสาขาไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้แนวโน้มปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้น

กรมชลประทาน จำเป็นต้องทยอยปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ไปจนถึงอัตรา 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ดังนั้นจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 0.20-0.40 เมตร ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง  คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้อง กับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า อย่างเต็มศักยภาพ โดยคำนึงถึงพื้นที่ลุ่มต่ำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเเล้วเสร็จ จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด 

กรมชลฯ พร่องน้ำคลองตะวันออก-ตกรับน้ำหลาก

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 12,285 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 49ของความจุอ่างฯ รับน้ำได้อีกกว่า 12,586 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบอย่างสอดคล้องกัน ด้วยการกักเก็บน้ำทางตอนบน ตอนกลางจะใช้เขื่อนเจ้าพระยา ในการบริหารจัดการน้ำออกทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ส่วนตอนปลายจะเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล

นอกจากนี้ได้เตรียมบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ภายใต้ขีดจำกัดของคลองที่รับน้ำต่อเนื่องในแนวคลองเหนือ-ใต้ (คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ คลองระบายน้ำ 13 คลองพระองค์ไชยานุชิต ลงสู่คลองชายทะเล และสูบน้ำออกสู่อ่าวไทย  และแนวคลองออก-ตก ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง รวมศักยภาพในการระบาย 55.98 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

ขณะเดียวกันยังรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากทางตอนบน และปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล่วงหน้า

ตัดยอดน้ำออกคลองก่อนเข้ากทม.

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน ได้ พร่องน้ำในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพฯ เพื่อรองรับการระบายปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งร่วมบูรณาการกับสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กำหนดจุดเชื่อมต่อในคลองต่างๆ ระหว่างกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำ 13 จุด

วางแผนการระบายน้ำผ่านสถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง สถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ หนองจอก สถานีสูบน้ำประเวศ คลองพระองค์ไชยานุชิต ร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

นอกจากนี้ ยังได้วางแผนโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ระยะเวลาการดำเนินงาน 6 ปี (2567-2572) ด้วยการปรับปรุงโครงข่ายคลองชลประทานเดิม จำนวน 27 คลอง ก่อสร้าง ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำรวม 42 อาคาร ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากอัตรา 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองได้อีกประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. อีกด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กจุดเสี่ยงท่วม 4 จว.ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา กทม.เก็บวัชพืชกั้นทางน้ำ

ชป.แจ้งลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา หลังน้ำเหนือลดลงต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง