ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คาดเปิดบริการ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" เข้าเมืองทองฯ ปี 67-68

เศรษฐกิจ
2 ส.ค. 65
18:08
587
Logo Thai PBS
คาดเปิดบริการ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" เข้าเมืองทองฯ ปี 67-68
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เอกชนเตรียมก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าไปในเมืองทองธานี 2 สถานี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในช่วงปี 2567-2568

วันนี้ (2 ส.ค.2565) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ที่ผ่านมาเริ่มดำเนินการเริ่มก่อสร้างในเดือน ม.ย.2561 แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงการล่าช้า เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดแรงงาน

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าต้นปี 2565 โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะเปิดให้บริการได้ แม้จะเปิดได้บางส่วน แต่สำหรับส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2567-2568 โดยโครงการนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีมากกว่าปีละ 10 ล้านคน ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการรถไฟฟ้าและช่วยแก้ปัญหาการจราจร

ส่วนกรณีที่มีบางฝ่ายออกมาระบุว่า โครงการนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ยืนยันว่าโครงการนี้เอกชนดำเนินการลงทุนเองทั้งหมด และทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน สำหรับราคาค่าโดยสารขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากอาจจะต้องหารือกับ รฟม.อีกครั้ง

"บีทีเอส" ยันไม่ได้ขอต่อสัมปทานสายสีเขียวเพื่อล้างหนี้

สำหรับประเด็นกรณีที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว นายคีรี ระบุว่า การรเปิดสัญญาไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทฯ สามารถเปิดให้ดูได้ เพราะเคทีเป็นผู้ถือหุ้นของสัญญานั้น และผู้ถือหุ้นสามารถรับรู้ได้ทุกอย่าง แต่ กทม.ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบริษัทฯ แต่ก็มีสิทธิในการขอให้เปิดสัญญาดังกล่าวได้ และเชื่อว่า กทม.รู้รายละเอียดสัญญา เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ปล่อยให้เคทีเซ็นสัญญาดังกล่าวกับบริษัทฯ ขณะเดียวกันก็มองว่าหากเปิดสัญญาก็ควรเปิดสัญญาในทุกโครงการ

ส่วนประเด็นเรื่องหนี้สินกับบีทีเอส ขณะนี้เกินกว่า 40,000 ล้านบาทแล้ว โดยแบ่งเป็นค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 20,000 ล้านบาท และค่าระบบจ้างเดินรถ ประมาณ 20,0000 ล้านบาท มองว่าหากจ่ายหนี้ได้ กทม.ควรจ่ายหนี้ในส่วนแรกก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเคทีได้เรียกบีทีเอสเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่ยังไม่ได้หารือเรื่องภาระหนี้สิน ซึ่งต้องการให้เวลาผู้ว่า กทม.และทีมศึกษาเรื่องนี้ก่อน

"ไม่มีความจำเป็นที่ต้องหยุดเดินรถ เพราะทำให้ประชาชนลำบาก เชื่อว่าเรื่องนี้รัฐบาลเข้าใจ เพียงแต่อาจมีบางคนทำเป็นไม่เข้าใจ แต่ถ้าวันหนึ่งบีทีเอสซีไปต่อไม่ได้ ก็อาจต้องพิจารณาอีกครั้ง ยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายขอต่อสัมปทานเพื่อจะล้างหนี้ เป็นไปไม่ได้ และไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจบีทีเอสผิด" นายคีรี ระบุว่า

 

นายคีรี ยังกล่าวถึงเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า มีการเปิดซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าศาลตัดสินพิพากษาไปแล้วว่าการเปลี่ยนยกเลิก TOR ที่ให้ประมูลมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ทางคณะกรรมการมาตรา 36 และการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ให้เดินหน้าต่อ

การยกเลิกเลิก TOR ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คณะกรรมการมาตรา 36 ยังให้เดินหน้าโครงการต่อ ซึ่งการไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้เพราะมองว่าเมื่อดูจาก TOR และไม่มีโอกาสที่บีทีเอสจะเข้าไปประมูลได้ หลังการศึกษารายละเอียดข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคา (RFP) ฉบับใหม่ เป็นเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดคุณสมบัติแบบเลือกผู้รับเหมา แต่บริษัทที่เป็นพันธมิตรครั้งที่แล้วได้ยื่นประมูลไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถหาพันธมิตรได้ทัน

ขณะนี้ซองการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบแรกยังอยู่ที่ รฟม. และยืนยันว่าวันหนึ่งอาจมีการเปิดเผยให้สื่อมวลชนรับทราบ หากมีการประกาศราคากลางออกมาก็ขอให้สื่อมวลชนร่วมตรวจสอบ

การประมูลต้องให้ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุด ประมูลอย่างถูกต้องและเป็นธรรม แต่ไม่ใช่ว่า TOR ออกมาแล้วปกติ แม้ศาลพิพากษาไปแล้วว่ามิชอบ ก็ยังมีการดำเนินการประมูลต่อ หากเป็นแบบนี้ก็ต้องพึ่งพากฏหมาย

 

อ่านข่าวอื่นๆ

“คีรี” ยืนยัน “บีทีเอส” ไม่เคยขอขยายสัมปทานสายสีเขียว

"บีทีเอส" ไม่ร่วมประมูล "รถไฟฟ้า​สายสีส้ม"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง