ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT : ลอบเพาะพันธุ์เสือโคร่ง ค้าสัตว์ป่าไม่สิ้นสุด

สิ่งแวดล้อม
28 ก.ค. 65
19:16
678
Logo Thai PBS
The EXIT : ลอบเพาะพันธุ์เสือโคร่ง ค้าสัตว์ป่าไม่สิ้นสุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
2 เดือน มีลูกเสือโคร่งถูกยึดเป็นของกลาง 3 ตัว จาก 2 คดี มีข้อมูลว่า ลูกเสือโคร่งกำลังเป็นที่ต้องการในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง ขณะนี้ การสืบหาที่มายังดำเนินอยู่โดยวิธีการหนึ่ง คือ เปรียบเทียบดีเอ็นเอกับฐานข้อมูลเสือในกรงเลี้ยง กรมอุทยานฯ
เสือในกรงเลี้ยงกว่า 1,300 ตัว ตามฐานข้อมูลของกรมอุทยานฯ ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมพันธุ์เพื่อการค้า และการจัดแสดง เป็นการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ทำให้ลูกเสือเกิดมาไม่แข็งแรง แตกต่างจากเสือในป่าธรรมชาติ ที่มีอยู่ประมาณ 250 ตัว

ข้อความจากนายรัชฎา  สุริยกุล ณ  อยุธยา  อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องในวันเสือโคร่งโลก 29 ก.ค.2565  เสมือนส่งสัญญาณถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาอย่างจริงจังถึงแนวทางอนุรักษ์เสือโคร่งในธรรมชาติ และ อาจถึงเวลาเลิกผสมพันธุ์ - เพาะพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงที่มีเป้าหมายเพื่อการค้า   เนื่องจาก เสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถอนุรักษ์เสือโคร่ง จนมีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ลูกเสือโคร่ง : สินค้าตลาดสัตว์ป่า

 

ลูกเสือโคร่ง อายุราว 5 เดือน ที่ถูกเรียกว่า ขวัญ ได้รับการดูแลอยู่ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ในฐานะสัตว์ป่าของกลางย่างเข้าเดือนที่ 4

เจ้าหน้าที่ยึดลูกเสือโคร่งของกลาง และจับผู้ต้องหา 3 คน ขณะส่งมอบลูกเสือที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่าน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน หลังสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหาเปิดกลุ่มขายสัตว์ป่าออนไลน์ ลูกเสือโคร่งถูกตั้งราคาขาย 400,000 บาท

 

เบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การว่า นำเข้าลูกเสือจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง 3 คนถูกแจ้งข้อหา ค้าและมีไว้ในครอบครอบซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

1 เดือนต่อมา ( 13 พ.ค. 2565 ) เจ้าหน้าที่ยึดลูกเสือโคร่งอายุประมาณ 3 เดือน จำนวน 2 ตัว ที่ จ.นครราชสีมา หลังจาก พบความเคลื่อนไหวของขบวนการค้าสัตว์ป่า และ ติดต่อซื้อลูกเสือโคร่งในราคาตัวละ 400,000 บาท

 

คดีนี้ เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหา พร้อมยึดสัตว์ของกลางทั้งลูกเสือโคร่ง 2 ตัว และ นกเงือกโตเต็มวัย นับ 10 ตัว
ขณะนี้ ลูกเสือโคร่ง 2 ตัว อยู่ในความดูแลของหน่วยรักษาและฟื้นฟูสัตว์ป่า รพ. สัตว์ทิพย์พิมาน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ  บอกว่า ผลตรวจดีเอ็นเอของลูกเสือโคร่งของกลาง ทั้ง 3 ตัว จาก 2 คดี พบว่า ลูกเสือ ชื่อ “ขวัญ” มีสายพันธุ์ไซบีเรีย ส่วนลูกเสือ 2 ตัว ที่ได้รับชื่อพระราชทานว่า “ต้นกล้า” และ “ต้นข้าว” ทั้งคู่เป็นเสือสายพันธุ์เบงกอล   บ่งชี้ว่า ทั้งหมดมาจากการลักลอบเพาะพันธุ์และไม่ได้มาจากป่าธรรมชาติของไทย

สายพันธุ์ที่ตรวจพบ บ่งชี้ว่า ลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว มาจากการลักลอบเพาะพันธุ์ เนื่องจากไม่ได้มาจากป่าธรรมชาติของไทยที่มีเฉพาะเสือสายพันธุ์อินโดจีนเท่านั้น แต่ยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นลูกเสือจากที่ใด ซึ่งอาจลักลอบนำมาจากประเทศเพื่อนบ้านหรือในไทยก็เป็นได้

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบดีเอ็นเอเสือโคร่งในกรงเลี้ยงของผู้ได้รับอนุญาตกิจการสวนสัตว์สาธารณะบางแห่ง โดยเน้นสวนเสือเป้าหมายที่มีข้อมูลเกี่ยวพันว่าอาจลักลอบเพาะพันธุ์เสือโคร่งเพื่อการค้า เป็นการตรวจสอบซ้ำ ว่าเสือที่มีอยู่จริงเป็นเสือโคร่งตัวเดียวกันกับฐานข้อมูลเดิมหรือไม่ และใช้เทียบเคียงกับดีเอ็นเอลูกเสือของกลางทั้ง 3 ตัว

 

จากการขยายผลติดตามขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) พบว่าทั้ง 2 คดี มีข้อมูลพฤติการณ์ซื้อขายลูกเสือเชื่อมโยงส่งต่อกันเป็นขบวนการ กระทั่งจับผู้ต้องหา 4 คน ตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ข้อหาร่วมกันค้า และมีไว้ครอบครองซึ่งสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมเข้าตรวจค้นพื้นที่บ้านพักของผู้ต้องหารวม 6 จุด เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด

หนึ่งในผู้ต้องหา มีชื่อเป็นผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะแห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบัน แจ้งครอบครองเสือขนาดโตเต็มวัย 7 ตัว

พล.ต.ต.มานะ  กลีบสัตบุศย์ ผบก.ปทส.ระบุว่า  นอกจากเสือโคร่งแล้ว  จากการสอบสวนเพิ่มเติมยังพบว่า ขบวนการนี้ลักลอบค้าและจัดหาสัตว์ป่าทุกชนิดตามใบสั่งลูกค้า

จับเครือข่ายค้าสัตว์ป่าได้ส่วนหนึ่ง เริ่มจากมีความเคลื่อนไหวในตลาดซื้อขายสัตว์ป่า แล้วเครือข่ายมาเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลการสืบสวนสอบสวนเดิม พบว่าขบวนการนี้ค้าสัตว์ป่าทุกอย่าง หรือจัดหาให้ตามออเดอร์ของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการนำสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง

ฐานข้อมูล DNA เสือในกรงเลี้ยง 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสวนสัตว์สาธารณะ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ 28 แห่ง ประชากรเสือโคร่งในกรงเลี้ยงมี 1,348 ตัว ข้อมูลนี้ยังไม่นับรวมจำนวนเสือโคร่งในความดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์

 

ฐานข้อมูล DNA เสือในกรงเลี้ยงที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีอยู่ทำให้รู้ว่า เสือในกรงเลี้ยงทั้งหมดเป็นเสือโคร่ง ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เบงกอล 1,166 ตัว รองลงมาเป็นเสือโคร่งเบงกอลขาว 105 ตัว สายพันธุ์ไซบีเรีย 33 ตัว เสือโคร่งอินโดจีน 28 ตัว และ มีเสือโคร่งสีทอง 16 ตัว ในจำนวนนี้มีเสือโคร่ง 75 ตัว ที่เป็นสัตว์ป่าของกลาง

ในปี 2558 มีสวนเสือมากถึง 40 แห่ง ปัจจุบันเหลือ 28 แห่ง เนื่องจากเหตุผล ยกเลิกกิจการ และถูกถอนใบอนุญาต ขณะนี้ มี 1 แห่ง อยู่ระหว่างยื่นคำขอต่อใบอนุญาตใหม่ และ มีคำสั่งถอนใบอนุญาต 1 ราย คือ มุกดาสวนเสือและฟาร์ม

ฐานข้อมูลดีเอ็นเอเสือในกรงเลี้ยงถูกนำมาใช้เทียบเคียงกับดีเอ็นเอเสือของกลาง เพื่อหาที่มาของแหล่งค้าเสือและเครือข่ายค้าสัตว์ป่า

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ระบุว่า  ขณะนี้ กรมอุทยานฯ กำลังทบทวนการอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาลักลอบค้าลูกเสือ

การลักลอบค้าลูกเสือ อาจเกิดจากต้นทางได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์เสือ แต่ไม่แจ้งเมื่อมีลูกเสือเกิดใหม่ หรือการลักลอบครอบครอง รวมทั้งการลักลอบเพาะพันธุ์ เรากำลังทบทวนการอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ เพื่อลดจำนวนกิจการนี้ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของกรมอุทยานฯ มากที่สุด

 

ข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ TRAFFIC ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้ธุรกิจค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายลดลง ไม่เพียงซาก หรือชิ้นส่วนอวัยวะเสือเท่านั้นที่เป็นที่ต้องการ แต่ลูกเสือกลายเป็นที่ต้องการในตลาดค้าสัตว์ป่าเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่นิยมนำสัตว์ป่าไปเป็นสัตว์เลี้ยง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง