ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้เชี่ยวชาญไวรัส ชี้บูสเตอร์เข็ม 4-5 เสี่ยงร่างกายไม่รับวัคซีนตัวใหม่

สังคม
30 มิ.ย. 65
19:44
13,822
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญไวรัส ชี้บูสเตอร์เข็ม 4-5 เสี่ยงร่างกายไม่รับวัคซีนตัวใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. เผยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 4-5 ต้องดูให้ดีว่าจำเป็นหรือไม่ เพราะหากมีวัคซีนใหม่เข้าในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีผลกระทบกับการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ยังจดจำวัคซีนตัวเก่าและไม่ตอบสนองกับวัคซีนใหม่

วันนี้ (30 มิ.ย.2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ขณะนี้ไวรัสที่อยู่ในประเทศไทยแพร่กระจายไวกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 คาดว่าคนไทยจะติดเชื้อมากขึ้น เพราะมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อด้วยตัวเองดีขึ้น รวมทั้งสามารถหนี้ภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ พบว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 3-4 มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน

ดร.อนันต์ กล่าวถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 4-5 ว่า ควรดูที่ความเสี่ยงของแต่ละคน ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ก็จำเป็น แต่สำหรับคนปกติที่ไม่มีความเสี่ยง ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องฉีดกระตุ้น

ฉีดกระตุ้นวันนี้ อีก 2 เดือนผ่านไป ภูมิคุ้มกันก็เท่ากับวันนี้ ภูมิตกค่อนข้างไว

การฉีดวัคซีนที่เกินความจำเป็น จะทำให้ร่างกายจดจำวัคซีนตัวเก่า เมื่อฉีดวัคซีนตัวใหม่ ร่างกายเราต้องใช้เวลานานมากที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน บางคนอาจไม่มีภูมิคุ้มกันขึ้นเลย เพราะร่างกายไม่ตอบสนอง และนี่อาจจะเป็นปัญหาระยะยาวของการใช้วัคซีนสูตรใหม่ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ หากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา อนุมัติวัคซีนตัวใหม่ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ก็อาจจะอนุญาตให้มีการขาย ซึ่งถ้าประเทศไทยปรับตัวไวกว่าในอดีต ก็จะสามารถจองวัคซีนตัวใหม่ได้เร็วขึ้น

ถ้าไทยจองวัคซีนได้ไว โอกาสได้วัคซีนสูตรใหม่ อาจจะเป็นปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า

ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ระบุว่ายาฉีด Evusheld ที่ อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนเพื่อป้องกันโควิด19 เป็นยาที่เหมาะกับคนที่ไม่สามารถสร้างแอนติบอดี้ให้ตัวเองได้และเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนที่มีประวัติการแพ้ยา คนที่กินยากดภูมิ ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งคนปกติไม่จำเป็นต้องใช้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง