วันนี้ (30 มิ.ย.2565) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่าจะให้บริการระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ถึงวันนี้ 30 มิ.ย.) เท่านั้น โดยจะใช้ระบบเจอแจกจบแทน ขณะเดียวกันบอร์ดสปสช.เตรียมพิจารณายกเลิกแจกชุดตรวจ ATK ในร้านขายยา เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค การตรวจ ATK จะทำต่อเมื่อมีอาการป่วยเท่านั้น ไม่ต้องมีการตรวจบ่อยครั้งเหมือนในอดีต โดยจะประชุมในวันที่ 4 ก.ค.นี้
ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากที่ไทยพ้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ ระบบการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 จะกลับสู่ภาวะปกติ ให้ยกเลิกระบบการรักษาพยาบาลที่บ้าน (HI) ทั้งนี้หากเจ็บป่วยก็ให้รักษาพยาบาลตามสิทธิรักษาที่มีอยู่ของแต่ละคน ได้แก่ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะสามารถไปใช้บริการในสถานพยาบาลใกล้บ้าน
ยกเลิกรักษา HI แต่รักษาพยาบาลปรับใช้ตามสิทธิ หากถ้าตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด รับยาต่อที่โรงพยาบาลได้ ที่เรียกว่าเจอแจกจบ แต่กรณีอาการหนัก ก็ยังรักษาตัวในโรงพยาบาลตามปกติ เหตุผลการระบาดมีอยู่ แต่อาการรุนแรงลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ
รับ ATK ได้แต่เพิ่มเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง-มีอาการ
ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า สำหรับการแจก ATK จะปรับตามที่กรมควบคุมโรค ให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และมีอาการ ซึ่งแพทย์จากโรงพยาบาลจะตรวจให้รอบแรก หรือรับผ่านร้านขายยาที่ร่วมในแอปฯเป๋าตัง แต่ปรับเกณฑ์ใหม่คือต้องมีอาการด้วยถึงจะรับ ATK ได้
ขณะที่ กรมการแพทย์ ออกข้อสั่งการการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล และสถาบันสังกัดกรมการแพทย์ โดยระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ขอให้บุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติตามวิธีป้องกันการติดเชื้อ คือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ล้างมือสม่ำเสมอ เว้นระยะห่าง หรืองดการรวมกลุ่ม
โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกัน และสำรวจการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบุคลากรในหน่วยงาน หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเป็นระยะเวลามากกว่า 4 เดือน แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยขอให้เป็นไปตามความสมัครใจ
"สาธิต" แนะเร่งชี้แจงเกณฑ์ใหม่
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า มอบหมายให้เร่งชี้แจงประชาชน หลังราชกิจจาประกาศ 1 ก.ค. ยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565 มีผลยกเลิกยูเซ็ป พลัส และ HI ให้กับกลับรักษาตามสิทธิ
ขณะที่ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 2,695 คน ผู้ป่วยสะสม 2,299,480 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65) หายป่วยกลับบ้าน 1,779 คนผู้ป่วยกำลังรักษา 23,931 คนเสียชีวิต 14 คนเสียชีวิตสะสม 8,950 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) ผู้ป่วยปอดอักเสบในโรงพยาบาล 684 คน
แนวโน้มคนติดเชื้อโควิดเข้ารพ.เพิ่ม
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิดว่า หากเลื่อนประกาศพ้นการระบาดใหญ่ออกไปจาก 1ก.ค.2565 ก็น่าจะดี เนื่องจากขณะนี้ทุกโรงพยาบาลใน กทม.รับคนไข้โรคโควิดเพิ่มขึ้น
โรงพยาบาลวิชัยยุทธต้องกลับมาเปิดหอผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 1 วอร์ด หลังจากที่เคยปิดไปแล้ว ผู้ป่วยที่รับมาการรักษาส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้ จึงขอให้ทุกคนระมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ
ส่วนการพิจารณาฉีดเข็มกระตุ้น นพ.มนูญ ยกตัวอย่างกรณีของตัวเองที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ที่ผ่านมาได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าเซเนกา 1 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม รวมทั้งหมด 4 เข็ม เข็มสุดท้ายปลายเดือนพ.ย.2564 และเดือนม.ค.2565 ได้ตรวจภูมิคุ้มกันพบว่ามีภูมิสูง
แต่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2565 ตรวจภูมิคุ้มกันแอนติบอดีล่าสุดลดลงมาก จึงตัดสินใจเข้ารับเข็มกระตุ้นโมเดอร์น่า เป็นเข็มที่ 5 และจะไม่ฉีดวัคซีนรุ่นปัจจุบันต่อจากนี้ จะรอวัคซีนป้องกันโรคโควิดรุ่นใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม อาจจะมาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1 ก.ค.นี้ สปสช.ยกเลิกจ่ายค่าตรวจโควิด รพ.นอกระบบบัตรทอง
สธ.เล็งหารือฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเด็ก 6 เดือน หากผ่านอนุมัติ อย.