ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เริ่มวันนี้ โดนใบสั่งผิดจราจร ไม่จ่ายค่าปรับ เจอ "ออกหมายจับ"

อาชญากรรม
20 มิ.ย. 65
15:04
66,528
Logo Thai PBS
เริ่มวันนี้ โดนใบสั่งผิดจราจร ไม่จ่ายค่าปรับ เจอ "ออกหมายจับ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจแถลงมาตรการบังคับใช้กฎหมายจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ หากกระทำผิดแล้วได้ใบสั่ง แต่ไม่ชำระค่าปรับ จะออกใบเตือน 1 ครั้ง หมายเรียก 2 ครั้ง ก่อนขอศาลออกหมายจับ อาจถูกตำรวจจับกุมตัว และมีประวัติอาชญากรรม กระทบทำนิติกรรม สมัครงาน เดินทางไปต่างประเทศ

วันนี้ (20 มิ.ย.2565) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.จร. และ รอง ผบก.น.1-9 ร่วมแถลงข่าวการบังคับใช้กฎหมายกรณีประชาชนไม่มาชำระค่าปรับ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า กรณีผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและไม่มาชำระค่าปรับ อีกทั้งกระทำความผิดซ้ำ เพิ่มปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาการจราจรมากขึ้น โดย บช.น. หาแนวทางให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปในการดำเนินการ คือ เมื่อพบผู้กระทำผิดจะออกใบสั่ง 3 รูปแบบ ได้แก่ การเขียนใบสั่งเล่ม, ใบสั่งจากภาพกล้องวงจรปิดส่งไปทางไปรษณีย์ และใบสั่งจากเครื่อง E-TICKET

เมื่อออกใบสั่งไปแล้ว แต่ผู้กระทำผิดไม่มาชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหนังสือเตือน 1 ครั้ง หลังจากนั้นหากยังไม่ชำระค่าปรับอีก จะมีการแจ้งความดำเนินคดี และออกหมายเรียกไปยังผู้กระทำความผิด 2 ครั้ง หากไม่มาจ่ายอีก จะเสนอศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับ

เน้นย้ำว่ากรณีที่ท่านโดนใบสั่งแล้วไม่มาชำระค่าปรับ การดำเนินการครั้งนี้จะเป็นแนวทางไปสู่การออกหมายจับ

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า เมื่อออกหมายจับแล้วจะส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตหลายเรื่อง โดยตำรวจจะประสานฝ่ายปกครอง ทำให้ผู้กระผิดเสียสิทธิในการทำนิติกรรมต่าง ๆ เพราะถูกนำชื่อไปสู่ทะเบียนกลาง อีกทั้งชื่อจะอยู่ในสารบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดก็ตาม ตำรวจสามารถเข้าจับกุมได้ ส่วนกรณีที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทำให้เกิดความยากลำบากในการเดินทาง และมีชื่อในกองทะเบียนประวัติอาชญากร กระทบความเชื่อมั่นเมื่อต้องการสมัครงานใหม่

ปัญหาผู้กระทำความผิดด้านการจราจรแล้วไม่มาชำระค่าปรับ เกิดพฤติกรรมเคยชิน บางรายกระทำผิดช้ำสูงถึง 59 ครั้ง ซึ่งความมุ่งหวังที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมายนี้ คือ ต้องการลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (20 มิ.ย.) เป็นต้นไป และสามารถตรวจสอบย้อนหลังใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ (ระยะเวลา 1 ปี) โดยเน้นกรณีกระทำผิดช้ำบ่อยครั้งก่อน

สำหรับผู้กระทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก และชำระค่าปรับในช่วงกำหนดการออกใบสั่ง ใบเตือน หรือการออกหมายเรียก จะยังไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เว้นกรณีที่ถูกออกหมายจับแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง