ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ระบุดัน 24 สัตว์ทะเลเป็นสัตว์สงวน-คุ้มครอง เพื่อให้การวิจัย-อนุรักษ์-ท่องเที่ยวยั่งยืนขึ้น

สิ่งแวดล้อม
23 มิ.ย. 58
14:25
1,375
Logo Thai PBS
ระบุดัน 24 สัตว์ทะเลเป็นสัตว์สงวน-คุ้มครอง เพื่อให้การวิจัย-อนุรักษ์-ท่องเที่ยวยั่งยืนขึ้น

ดร.ธรณ์ระบุการขอยกระดับสัตว์ทะเล 24 ชนิด เป็นสัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง นอกจากจะยกระดับความสำคัญแล้ว ยังช่วยผลักดันแผนการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์ เป็นรูปธรรม และช่วยให้เจ้าหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการกระทำผิดต่อสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการศึกษาวิจัยและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย

วันนี้ (23 มิ.ย.2558) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช. ระบุในเฟซบุ๊คว่า แหล่งข่าวจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่าจากการผลักดันของสภาปฏิรูปแห่งชาติและกระแสสังคม ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมนำเสนอรายชื่อสัตว์น้ำหายากและใกล้สูญพันธุ์ เพื่อพิจารณาในพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (พ.ศ.2535) ทั้งหมด 24 ชนิด หลังจากที่ไม่เคยมีการนำเสนอสัตว์ขึ้นเป็นสัตว์สงวนมาแล้วมากกว่า 23 ปี
รายชื่อสัตว์หายากที่จะนำเสนอเป็นสัตว์สงวน ได้แก่
1) วาฬบรูด้า
2) วาฬโอมูระ (ลักษณะคล้ายวาฬบรูด้า)
3) เต่ามะเฟือง
4) ฉลามวาฬ
รายชื่อสัตว์หายากที่จะนำเสนอเป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่
1) กระเบนแมนต้ายักษ์
2) กระเบนแมนต้าปะการัง
3) กระเบนปีศาจครีบสั้น (คล้ายกระเบนแมนต้า)
4) กระเบนปีศาจหางหนาม
5) กระเบนปีศาจครีบโค้ง
6) กระเบนปีศาจแคระ
7) โรนิน กระเบนท้องน้ำ
8) โรนันเม็ด
9) โรนันหัวไทรจุดขาว
10) โรนันหัวไทร
11) โรนันหัวไทรยักษ์
12) โรนันจมูกเรียบ
13) โรนันจุดขาว
14) โรนันจุดขาวใหญ่
15) โรนันหัวจิ้งจก
16) โรนันจมูกกว้าง
17) ฉนากปากแหลม
18) ฉนากเขียว
19) ฉนากยักษ์
20) กระเบนราหูน้ำจืด

แหล่งข่าวรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปลัดกระทรวง เกษมสันต์ จิณณวาโส ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการนำเสนอรายชื่อครั้งนี้ เนื่องจากเคยทำการศึกษาและทำงานในเรื่องสัตว์ทะเลหายากระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สำหรับขั้นตอนของการนำเสนอจากนี้ จะผ่านการพิจารณาของ 1) กรมประมง 2) คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 3) คณะรัฐมนตรี ก่อนประกาศพรก. ซึ่งการนำเสนอวาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เป็นสัตว์สงวน จะยกระดับความสำคัญของสัตว์เหล่านั้น อีกทั้งยังช่วยผลักดันแผนการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนการนำเสนอ กระเบนกลุ่มแมนต้าและกระเบนปีศาจ ตลอดจนสัตว์อื่นๆ เป็นสัตว์คุ้มครอง จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลไม่ให้เกิดการกระทำผิดต่อสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการศึกษาวิจัยและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามทั้งวาฬบรูด้า วาฬโอมูระ เต่ามะเฟือง ฉลามวาฬ กระเบนแมนต้า กระเบนปีศาจ และอื่นๆ จัดเป็นสัตว์ที่นักท่องเที่ยวและนักดำน้ำทั่วโลกต่างให้ความสนใจ หากประเทศไทยมีแผนการอนุรักษ์และการจัดการที่ชัดเจน จะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านนี้
ปัจจุบัน มีผู้ลงรายชื่อสนับสนุนการนำเสนอวาฬบรูด้าและสัตว์อื่นๆ เป็นสัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง ผ่านทาง http://www.change.org/saveourwhaleมากกว่า 22,000 ราย ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ประชาชนให้ความสนใจมากเพียงนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ จะร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาในเรื่องนี้ ในวันที่ 13 ก.ค.2558
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง