วันนี้ (4 พ.ค.2565) เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) ที่กำลังอยู่ในระหว่างเที่ยวบินที่ 26 ได้บันทึกภาพถ่ายมุมสูงจำนวน 10 ภาพ เผยให้เห็นเศษซากของฝาประกบหลัง (backshell) และร่มชูชีพ (parachute) อุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งในขั้นตอนร่อนลงสู่พื้นผิวดาวอังคารของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) อย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564
การเข้าสู่วงโคจร การร่อนตัว รวมถึงการลงจอดของเพอร์เซเวียแรนส์นั้น ดำเนินไปอย่างรวดเร็วภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียด ยานเคลื่อนที่จากอวกาศเข้าสู่ดาวอังคารด้วยความเร็วสูงถึง 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีเวลาเพียง 7 นาทีให้ชะลอความเร็วจนช้าเพียงพอที่ยานจะลงจอดได้อย่างปลอดภัย โดยยานจะต้องเจอกับแรงโน้มถ่วง ความร้อนสูงจากการเสียดสีในชั้นบรรยากาศ และปัจจัยอื่น ๆ ในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร จึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ยากและท้าทายที่สุดของการส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร
จากการวิเคราะห์ภาพ ทีมควบคุมพบว่า backshell ตกลงกระแทกพื้นด้วยความเร็วถึง 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแทบจะไม่มีร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากเสียดสีกับชั้นบรรยากาศเลย มีเพียงความเสียหายจากการตกลงมากระแทกพื้นเท่านั้น อีกทั้งเชือกที่ผูกติดระหว่าง backshell กับร่มชูชีพก็ยังคงอยู่ในสภาพดี แต่ถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่น นอกจากนี้ ยังเห็นร่มชูชีพขนาดใหญ่จากระยะไกล ซึ่งยังไม่สามารถระบุรายละเอียดที่ชัดเจนได้ และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์เพื่อวิเคราะห์ความเสียหายของร่มชูชีพ
อินเจนูอิตีขึ้นบินเที่ยวที่ 26 บนดาวอังคารเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2565 (ซึ่งตรงกับวันที่ขึ้นบินครั้งแรกเมื่อ 19 เม.ย.2564) โดยใช้เวลาในการบินประมาณ 2 นาที 39 วินาที ขึ้นบินที่ระดับความสูง 8 เมตรเหนือพื้นผิวดาวอังคาร และเคลื่อนที่เป็นระยะทางประมาณ 360 เมตร ข้อมูลจากการบินครั้งนี้จะเป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับภารกิจลงจอดในอนาคต เช่น ภารกิจ Mars Sample Return ที่เป็นภารกิจเก็บตัวอย่างพื้นผิวของดาวอังคารที่เพอร์เซเวียแรนส์รวบรวมไว้กลับมาศึกษาต่ออย่างละเอียดบนโลก ข้อมูลครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจถึงความปลอดภัยของยานที่จะลงจอดในอนาคต
ทั้งนี้ เที่ยวบินต่อไปของอินเจนูอิตี คือการสำรวจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำบริเวณหลุมอุกกบาตเจซีโร (Jezero Crater) เพื่อกำหนดเส้นทางให้เพอร์เซเวียแรนส์สามารถทางเดินผ่านพื้นที่ขรุขระและสำรวจพื้นที่อาจจะมีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวอังคาร รวมถึงเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับพื้นที่ลงจอดของภารกิจ Mars Sample Return ต่อไปด้วย
ที่มา : nasa, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ