ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดตัวเบอร์ 5 สมัครผู้ว่าฯ กทม. "วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ" คนที่นักข่าวถามว่า “คือใคร”

การเมือง
4 เม.ย. 65
15:09
11,899
Logo Thai PBS
เปิดตัวเบอร์ 5 สมัครผู้ว่าฯ กทม. "วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ" คนที่นักข่าวถามว่า “คือใคร”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันที่ 31 มี.ค.2565 กทม.เปิดรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. หลังการจับสลากหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครฯทั้งหลาย มีผู้สมัครหนึ่งคน คือ นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครอิสระ ที่ผู้สื่อข่าวหลายสำนักตั้งคำถามว่า เขาคือใคร ? เพราะแม้แต่ภาพใน Google ก็ค้นไม่เจอ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ นัดสัมภาษณ์ วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หรือ โจ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 5 ที่หลายคนถามหาว่าเขาคือใคร เพราะแม้แต่ค้นใน Google ก็ไม่พบทั้งชื่อและภาพถ่าย

พบครั้งแรกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส บุคลิกบอกอาชีพ เขาแนะนำตัวว่า อดีตเป็นโปรแกรมเมอร์ วางแผนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว 7-8 ปี ที่ครั้งนี้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยมีเป้าหมายสำคัญส่วนตัว ที่หวังนำนโยบายที่ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ มาปรับใช้กับกรุงเทพมหานคร

ทำไมจึงคิดเข้ามาทำงานการเมือง

ผมเห็นโอกาสที่ต่างกัน เอาแค่ตัวอย่างใกล้ตัว เช่น ผมเป็นผู้จัดการโครงการ ทำงาน 1 เดือน มีรายได้มากกว่าคนที่ทำงาน 5 เดือน นี่คือโอกาสที่ต่างกัน แต่ถ้าในต่างประเทศเงินเดือนไม่ได้ต่างกันหลายเท่าขนาดนี้ ฉะนั้น เรามีอะไรที่จะสามารถช่วยประชาชนได้บ้าง

ตอนนี้ผมสามารถเกษียณได้แล้ว เพราะผมทำธุรกิจส่วนตัว สามารถเออร์รี่รีไทร์ได้ ผมพร้อมแล้วเงิน ที่มาตรงนี้ก็ไม่ได้เดือดร้อน ถือว่ามาตอบแทนสังคม ให้สังคมดี

แต่ถ้าผมเน้นนโยบาย อาจไม่ต้องทำเองก็ได้ ใช้จุดนี้มาบอกว่า ญี่ปุ่นทำแบบนี้ดี อเมริกาทำแบบนี้ดี ไต้หวันทำแบบนี้ดี ยุโรปทำแบบนี้ดี สิงคโปร์ทำแบบนี้

ครอบครัวทราบหรือเปล่าว่ามาสมัครผู้ว่าฯกทม.

ที่บ้านทราบมาตลอดว่า อยากลงสมัคร ผมเคยพูดว่า ผมจะมาสมัครผู้ว่าฯ นะ เพื่อนร่วมงานคิดว่าผมพูดเล่น โดยครอบครัวก็รู้ และคิดว่าถ้าเราไม่เดือดร้อนอะไร ก็ทำไปเถอะ

ก่อนหน้านี้เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองหรือไม่

ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ได้อยู่ในทีมของผู้สมัครนายกองค์การนักศึกษา หรือ ทำงานในสโมสรคณะวิศวกรรมของลาดกระบัง ซึ่งสนใจด้านกิจกรรมมาอยู่แล้ว

นโยบายมีอะไรบ้าง

จากการเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อพบเห็นความเจริญของต่างประเทศ จึงต้องการนำมาพัฒนากรุงเทพฯ เช่นในเรื่องของสิทธิ การไม่ละเมิดสิทธิ เช่นการจัดตั้งศูนย์คลายทุกข์เพื่อนบ้านเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ระหว่างเพื่อนบ้านที่พบบ่อยมากขึ้น ในรูปแบบ One Stop Service โดยให้มอบอำนาจให้กับเขตต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน

รวมถึงการแก้ไขปัญหาทางเท้า ทั้งหาบเร่ แผงลอย การขับขี่บนทางเท้า ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ จึงเน้นการกวดขัน บังคับใช้กฎหมาย เช่นตัดแต้ม ระงับการใช้ใบขับขี่ จะทำให้ผู้กระทำผิดกฎหมายลดลง

ขณะที่หาบเร่แผงลอยที่ยังคงจำเป็นที่จะต้องมี เช่น หากนำรูปแบบของประเทศสิงคโปร์มา จะมีการปิดถนนและจัดเป็นสตรีตฟู้ด รวมถึงจัดประกวดแข่งขันร้านอาหารที่คุณภาพดี ราคาถูก ให้ประชาชนโหวตและให้ตั้งร้านในจุดต่าง ๆ

และปรับให้เป็นจุดผ่อนผันเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่เบียดพื้นที่การสัญจร และตอบโจทย์ประชาชนในการลดค่าครองชีพมีอาหารที่ประหยัดได้คุณภาพ

รวมถึงการนำหาบเร่แผงลอย ที่อยู่ในจุดที่ผิดกฎหมายย้ายมายังพื้นที่ว่างเปล่าในตรอกซอกซอย โดยให้ผู้สนใจมาเปิดตลาดซี่งมี กทม.เป็นตัวกลางในการติดต่อกับธนาคาร เพื่อให้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการเปิดกิจการตลาดและสามารถของได้โดยถูกกฎหมาย

แก้ไขปัญหา “ฝุ่น-จราจร” ยังไง

การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM.2.5 หน่วยงานระดับท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้น เฉพาะกรุงเทพฯ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ มีเพียงภาคใต้ที่ไม่มีปัญหานี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหมือนกับหยดน้ำในมหาสมุทร

ปัญหาเรื่องของฝุ่น PM 2.5 การแก้ไขควรที่จะแก้ไขทั้งประเทศ เนื่องจากปัญหาร้อยละ 30 มาจากรถยนต์ที่เผาไหม้ในระบบเครื่องยนต์ดีเซล และจุดที่ 2 คือ การเผาไหม้ในพื้นที่รอบนอกจากกรณีการเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกซึ่งเป็นต้นกำเนิด PM2.5

หากจะแก้ไขปัญหา หากเทียบกับประเทศยุโรป ที่กำหนดโรดแมป 12 ปี ที่ห้ามรถยนต์ระบบสันดาปวิ่งในเมือง

หากผมเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะกำหนดโรดแมปงดใช้รถยนต์ในระบบสันดาปวิ่งในเขตเมือง หากฝุ่นยังเกินมาตรฐานรถยนต์ระบบสันดาป อาจจะวิ่งได้เพียงวันคู่หรือวันคี่ เช่นเดียวกับที่ประเทศฟิลิปปินส์

ขณะที่ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องติดเครื่องมือตรวจสอบว่า โรงงานอุตสาหกรรมในเขตใดที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน ซึ่งตรวจสอบว่า ผิดมาตรฐานหรือไม่หากไม่ผิดหรือมีโรงงานอยู่หนาแน่น ก็จะให้ย้ายไปยังพื้นที่อื่น และสนับสนุนค่าใช้จ่ายการย้าย และสร้างแรงจูงใจเช่น สร้างการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ฉะนั้นปัญหาฝุ่น Pm2.5 ก็จะลดลง

การแก้ไขปัญหาจราจรแก้อย่างไร

ผมเห็นตรงกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกท่านว่า ระบบขนส่งมวลชนจะต้องทั่วถึง และราคาถูก ซึ่งของไทยยังไม่ถึงจุดนั้น และจากโรดแมปที่รัฐบาลวางแผนและดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ซึ่งกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้องแต่อาจช้ากว่าคนอื่น

วิธีการแก้ไขปัญหาของผม คือ สร้างโรงเรียนใกล้บ้าน เนื่องจากครอบครัวที่มีบุตรหลานสามารถเรียนหนังสือได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับ-ส่ง เนื่องจากเชื่อว่า โรงเรียนในเมืองนั้นมีคุณภาพที่ดี จึงต้องตื่นเช้าเพื่อไปส่งลูก จากนั้นก็เดินทางไปที่ทำงาน ก็จะทำให้มีการสัญจรใช้ถนนจำนวนมาก

หากมีโรงเรียนที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานสากลและอยู่ใกล้บ้าน จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยครูโดยให้ครูสอนน้อยที่สุด ด้วยการสื่อการเรียนการสอนที่ดี

ดังที่เห็นได้จากในปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถเรียนและสอบเอาใบรับรองจากสถาบันต่าง ๆ ได้ เนื่องจากสถาบันนั้นมีสื่อการที่มีคุณภาพ ถ้าเรามีตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีครูมาสอนโดยตรง และให้ครูคอยชี้แนะ แนะแนว เปลี่ยนเป็นคนสอนมาเป็นโค้ช ให้คำปรึกษา ดังนั้นเมื่อไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปส่งลูกที่โรงเรียนปริมาณรถก็จะลดลง

ขณะที่ค่าโดยสารและโครงข่ายขนส่งจะต้องเชื่อมโยงกัน เช่น จากบ้านขี่รถจักรยานไปยังรถไฟฟ้า สิ่งที่ขาดคือโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีทั้งคนเดินเท้าและปั่นจักรยาน

ซึ่งจะใช้สัญญาณไฟจราจรร่วมกัน เมื่อไฟเขียวจะยาวตลอดเส้นทาง เพื่อให้คนเดินและปั่นจักรยานได้ต่อเนื่อง โดยของไทยจะปรับไว้ทุก 100 เมตร ให้สัญญาณไฟเขียวและหยุดไฟแดง 2 นาที สลับคนเดินกับผู้ใช้รถ
นอกจากนี้ ปัญหาจราจรจะใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะเพื่อให้เหมาะสมกับทั้งคนและรถที่ใช้การเดินทางร่วมกัน โดยมี AI เข้ามาช่วย

รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเป็นอย่างไร

การทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงต้องดูว่า ขอบเขตอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.มีแค่ไหน ซึ่ง กทม.รับผิดชอบแค่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งปัญหาในขณะนี้คือ ไม่มีตัวแทนที่เป็นคนกรุงเทพฯไปบริหารจัดการสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ทำกับเอกชน รวมถึงการที่กรุงเทพฯ ขอส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทานกว่า 200,000 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งจะเป็นภาระของผู้ใช้บริการ

ด้วยเหตุที่ กทม.เป็นหน่วยงานบริการประชาชน ไม่ใช่หน่วยงานแสวงหากำไร ดังนั้นหากมีตัวแทนหรือผู้ว่าฯ กทม.คนไหนเข้าไป ก็ไม่อยากให้เพิ่มภาระให้ประชาชนแน่นอน

ตรงนี้เมื่อเข้าไปแก้ไขได้ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ ก็จะเกิดแรงจูงใจกับประชาชน ซึ่งเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะด้วยการขี่จักรยาน เดินถนน และมีค่าใช้จ่ายเดินทางระบบสาธารณะที่ราคาถูก

ทำไมคนกรุงเทพฯ จะต้องเลือกคุณวีรชัย

ในมุมมองของผม ผมไม่ได้มาแบบไม่คิดอะไรเลย ผมมีกลยุทธ์ ผมผ่านการเลือกตั้งมา 20 กว่าปี โดยประชาชนที่จะเลือกตั้งมี 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มประชาชนที่มีพรรคอยู่ในใจแล้ว ไม่ว่าพรรคนั้นจะทำอะไรก็รัก ซึ่งกลุ่มนี่เราไปแตะเขาไม่ได้

กลุ่ม 2 คือ กลุ่มที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกใคร ผมเองก็คือกลุ่มนั้น และมองว่า บรรดาผู้สมัครมีใครที่น่าสนใจ เราต้องจับหัวใจคนกลุ่มนี้ให้ได้ถึงจะมีคะแนนขึ้นมา แต่คนกลุ่มนี้ หากเทียบระหว่าง วีรชัยและชัชชาติ หากมีนโยบายเหมือนกัน ผมก็เลือกชัชชาติ เพราะน่าจะทำงานดีกว่า มีผลงานดีกว่าผม

สิ่งที่ผมพยายามทำให้ชัดเจน คือ หากเป็นคนอื่นจะบอกว่า ผมจะทำให้คนกรุงเทพ มีอากาศ สดใส น่าอยู่ แต่คำถามคือ ทำอย่างไร ไม่มีใครมาบอกว่า สดใสขึ้นต้องทำอย่างไร น่าอยู่ต้องทำอย่างไร

แต่ผมจะบอกเลยว่า นโยบายผมจะทำอย่างไร เช่น นโยบายโรงเรียนใกล้บ้านผมจะทำอย่างไร เช่น มีเทคโนโลยีสื่อการสอนที่ดี ครูต้องได้รับการอบรม เพื่อให้เข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้ นักเรียนควรเป็นคนประเมินครูและปและโรงเรียนเพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคต ผมจะมีขั้นตอน 1 2 3 4 อย่างไร ก็จะจับต้องได้ง่าย ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายภาพรวม แต่มีนโยบายที่แตกต่างและเห็นชัดจากผู้สมัครท่านอื่น

สิ่งที่ผมจะชนะคนอื่น ก็คือ มีนโยบายที่ดีและชัดเจนกว่า และหวังว่าจะได้คะแนนเสียงราว 10,000-100,000 เสียงก็พอใจแล้ว

นำความรู้ในฐานะวิศวกรมาปรับใช้ยังไง

แม้จะจบวิศวกรรม แต่งานของผมคือ เป็นผู้จัดการโครงการ การใช้ความรู้ด้านบริหารเป็นเรื่องพื้นฐาน นโยบายเป็นขั้นตอน สิ่งที่ดีที่ได้มาจากการทำงานก็ไม่ด้อยกว่าผู้สมัครท่านอื่นและสิ่งที่พิสูจน์ได้ คือ ผมสามารถทำธุรกิจของตนเองได้ สามารถควักเงินตัวเองมาสมัครได้ และมีนโยบายไม่ได้มาสมัครแบบมือเปล่า หรือมาแบบไม่มีอนาคต ผมก็คิดว่าเตรียมสิ่งที่คิดว่า ทำให้มีโอกาสที่จะชนะเพราะใช้ความรู้ด้านการบริหาร

คาดหวังในการสมัครครั้งนี้อย่างไร

จุดประสงค์ที่ผมมาในครั้งนี้ ไม่หวังว่าจะชนะ ผมเป็น Nobody Noname จุดอ่อนผมอาจไม่มีผลงานหากเทียบกับผู้สมัครท่านอื่น แต่สิ่งผมก้าวเข้ามา นโยบายของต่างประเทศที่ดี น่าทำ มันควรจะเกิดขึ้นในบ้านเรา ไม่จำเป็นต้องคิดเองให้ยาก เพียงแต่ถอดบทเรียนจากต่างประเทศมา เช่น ญี่ปุ่นดีอย่างไร ปลอดภัย เป็นระเบียบเรียบร้อย

ผมไม่ได้คิดว่าจะชนะ แต่อยากให้ประชาชนรับรู้และตื่นตัวว่า ประเทศอื่นเขาแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ส่วนผู้ว่าฯ ท่านไหนจะนำนโยบายไปใช้ก็จะยินดี ดังนั้นจุดประสงค์ครั้งนี้ คือ การมากระจายนโยบาย

หรือ หากประชาชนมีนโยบายที่ดีผมก็พร้อมที่จะรับฟังและนำมาเสนอเป็นนโยบาย เพราะการที่มีความตื่นตัวเรื่องนโยบาย จะส่งผลที่ดีต่ออนาคต แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้ทำ แต่ในสมัยหน้าสมมติผมทำให้เกิดกระแส ผมจะนำไปแชร์สื่อออนไลน์ เมื่อถึงอนาคตนักการเมืองมาเห็น ก็จะเป็นทางเลือกที่จะถูกนำไปหยิบใช้

อยากให้นโยบายนักการเมือง เน้นที่นโยบายมากกว่าคำโปรยที่สวยแต่ไม่รู้ว่าข้างในคืออะไร เพราะ 4 ปีผ่านไป ไม่มีอะไรที่เห็นถูกต้องและชัดเจน

มีทีมงานและหาเสียงอย่างไร

ผมใช้ดิจิทัลทั้งหมด ไม่มีใบปิดป้าย หรือ ใบปลิว ใช้งบประมาณ 300,000 บาท โดยเน้นช่องทางเฟซบุ๊กและติ๊กต๊อก ทีมงานผมจะเป็นมือใหม่ ทีมงานไม่เยอะ และใช้เงินของผมเองทั้งหมด ดังนั้นจะจ้างทีมงานด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง 2 คน และฟรีแลนซ์ทำอาร์ตเวิร์กอีก 1 คน ถามว่าแค่นี้เพียงพอหรือไม่

ถ้าเราบริหารจัดการดี โดยนโยบายพวกนี้ผมเตรียม 7-8 ปีแล้ว โดยเตรียมทำอินโฟกราฟิกมา 7-8 ปีแล้ว ถ้าอยากได้งานดี ไม่มีเงินก็ต้องให้เวลากับคนกลุ่มนี้ก็บาลานซ์งานกับเงินก็จะช่วยประหยัดเงิน ทีมงานแม้ว่าจะมี 2-3 คน ก็พร้อมจะมีนโยบายออกมาเรื่อย ๆ

จุดอ่อนผู้สมัครที่ไม่มีฐานการเมือง เตรียมตัวอย่างไร

การลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้คิดจะชนะ คิดที่จะนำเสนอนโยบาย ผมคำนวณแล้ว น่าจะมีโอกาสชนะน้อยกว่า 10 % คือไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย แต่ในอนาคต ผมรู้จุดอ่อนตัวเองแล้ว และคิดว่าควรที่จะเข้าพรรคการเมืองถ้าจะทำงานด้านการเมืองต่อไป ควรจะเข้าพรรคการเมือง

ขณะที่บุคคลที่น่าสนใจ และมีเส้นทางที่น่าสนใจคือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนแรก และเป็นผู้สมัครอิสระ และสามารถผลักดันให้ คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้

ขั้นตอนของผมจากนี้ คือ การสร้างตัวตน สร้างคอนเนกชั่น ได้ประสบการณ์ และขั้นต่อไปมองไปถึงเป็นนายก และไม่ได้ที่จะหยุดแค่ตรงนี้ ผมวางแผนไว้ว่าจะไปพรรคการเมือง หรือ หากคุณสุชัชวีร์ได้ ก็อาจจะเสนอตัวไปช่วย หรือ หากคุณชัชชาติได้ ก็จะเสนอตัวไปช่วย โดยใช้นโยบายที่ผมได้เตรียมไว้

ใครชนะที่เป็นผู้ว่าฯ ก็พร้อมที่จะไปช่วยงาน หากสอบตกไม่ใช่ว่าจะหยุดในการพัฒนาประเทศ ผมก็จะเป็นมดงานในการทำงาน รวมถึงผมยังมีนโยบายระดับประเทศด้วยที่ ขณะนี้ต้องดูอุดมการณ์ว่าตรงกันหรือไม่ จากนั้นก็จะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ประวัติ

นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ อายุ 45 ปี ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 5 

เกิดที่ อ.เบตง จ.ยะลา ย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่ กรุงเทพฯ ปัจจุบัน อาศัยอยู่ย่านลาดพร้าว

สถานะภาพโสด มีพี่-น้อง รวม 4 คน

เป็นบุตรคนที่ 3 พี่มีชาย 2 คน และ น้องสาว 1 คน

จบการศึกษาชั้นอนุบาล ที่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟทิพวัล จ.สมุทรปราการ

ประถม โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ

มัธยม โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ

ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

การทำงาน เริ่มต้นจากการเป็นโปรแกรมเมอร์ ขยับเป็นที่ปรึกษา และผู้จัดการโครงการด้านพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ บ.เอกชน
ปัจจุบัน ประกอบธุรกิจให้บริการด้านพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง