ห่างหายจากการหาเสียงเลือกตั้งมานาน กลับมาครั้งนี้ ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่ละคน มาพร้อมกับกลยุทธ์หาเสียงบนโลกออนไลน์ เพื่อการเข้าถึงประชากรชาวกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Time Voter)
"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้สมัครหมายเลข 8 หยิบไวรัลบนออนไลน์อย่างซีรีส์เกาหลียอดฮิต "Squid Game" มาตีโจทย์ใหม่ ในธีมกรุงเทพฯ เมืองที่น่าเที่ยวอันดับ 1 ของโลก แต่เป็นเมืองที่น่าอยู่อันดับที่ 98 ของโลก สะท้อนปัญหาขนส่งสาธารณะ ปัญหาทางเท้า และมลพิษทางอากาศ เพื่อนำเสนอนโยบายทางออนไลน์
ไม่ต่างจาก "สกลธี ภัททิยกุล" ผู้สมัครหมายเลข 3 ที่เอาใจวัยรุ่นด้วยการอวดลวดลายการแร็ปเสนอนโยบายและความพร้อมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครทั้งน้ำท่วม รถติด โดยขอความร่วมมือประชาชนและขออาสาเป็นผู้พัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้น สมกับชื่อเพลง "กรุงเทพดีกว่านี้ได้"
แม้จะทุ่มสุดตัวเพื่อคว้าคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ด้วยกลยุทธ์ที่ทันสมัย แต่อาจไม่ใช่คำตอบว่า จะสามารถซื้อใจเหล่าคนรุ่นใหม่ได้ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การหาเสียงกับคนรุ่นใหม่สิ่งสำคัญไม่ใช่การทำตัวเป็นเด็ก แต่ผู้สมัครต้องตีโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ให้แตก
ผู้สมัครไม่ต้องทำตัววัยรุ่น แต่ต้องเข้าใจ Pain point คนรุ่นใหม่ คือ ความยุติธรรม ผลประโยชน์สาธารณะ ภาษีที่เขาจ่ายไปคุ้มค่าไหม การขนส่งสาธารณะหรือทางเท้า เมื่อเข้าใจแล้วเอาข้อความที่ตรงกับเขามา จะทำให้เขาหยุดดู และประสบความสำเร็จในการสื่อสาร
แคมเปญการเมืองสร้างคอมมูนิตี้บนโลกออนไลน์
นอกจากกิมมิกจากไวรัลต่าง ๆ แล้ว ผู้สมัครบางคนเริ่มสร้างแคมเปญทางการเมืองผ่านพื้นที่ออนไลน์ อย่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 ชูแฮชแท็ก #วิโรจน์ #พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพ ที่ชวนชาวกรุงร้องเรียนปัญหาทางม้าลายผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ก่อนจะนำมาจัดทำเป็นแผนที่รายงานปัญหาบนเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล แล้วต่อเนื่องด้วยการไลฟ์ 4 นโยบาย แก้ปัญหาทางม้าลายผ่านเฟซบุ๊ก
หรือแคมเปญพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 ที่มาพร้อมแฮชแท็ก #อัศวิน #กรุงเทพฯต้องไปต่อ หลังเกิดดรามาป้ายหาเสียงขวางทางเดิน ก็ผุด Line Openchat ขึ้นมาให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียงได้ และมีทีมงานรับเรื่องเพื่อแก้ไขทันที จนนำไปสู่การสร้างคอมมูนิตี้ในโลกออนไลน์ที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากป้ายหาเสียงกับทีมงานของผู้สมัครได้โดยตรง
ด้วยแฮชแท็กผู้สมัครที่มีกันทุกคน ประกอบกับการเดินหน้าหาเสียงทางออนไลน์ด้วยแคมเปญทางการเมืองและกลยุทธ์ต่าง ๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การหาเสียงในสังเวียนโลกเสมือนที่ดุเดือดกลายเป็นช่องทางหลักของการซื้อใจชาวกรุง ไม่ใช่เพียงการสร้างสีสันเท่านั้น
เฟซบุ๊กมอนิเตอร์เฟกนิวส์-ต้นตอเงินโฆษณาหาเสียง
ขณะเดียวกันบทเรียนจากการหาเสียงในต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่แพลตฟอร์มออนไลน์ถูกตีตราให้กลายเป็นผู้ต้องหาการแพร่เฟกนิวส์จนทำให้เกิดข้อกังขาบิดเบือนผลการเลือกตั้ง ก็นำไปสู่การมอนิเตอร์สุดเข้มข้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งโดยเฉพาะจากแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก
เฟซบุ๊กจะมอนิเตอร์เงินที่ลงโฆษณาเพื่อหาต้นตอเงินว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติจะดำเนินตามขั้นตอน ด้านเนื้อหาเฟซบุ๊กจะให้พื้นที่กับนักการเมืองเป็นพิเศษ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเสรีภาพในการสื่อสาร แต่จะเข้ามาจัดการทันทีที่มีการปล่อยเฟกนิวส์
หลังจากนี้ การหาเสียงทางออนไลน์จะกลายเป็นโจทย์สำคัญและเป็นพื้นที่แข่งขันสูงที่แต่ละคนต้องงัดกลยุทธ์ที่ถูกต้อง มาพร้อมกับการสื่อสารที่ไม่ผิดเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม ขณะที่ รศ.พิจิตรา ฝากถึงประชาชนที่ติดตามนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนอาจต้องเน้นรับสารจาก 2 ช่องทาง คือ เพจหลักของผู้สมัครเอง และช่องทางสื่อออนไลน์ของสำนักข่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลจริงและถูกต้อง นำไปสู่การตัดสินใจเลือกผู้แทนเพื่อตัดสินอนาคตคนกรุงในอีก 4 ปีข้างหน้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กนโยบาย! ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.กับเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียว
“ชัชชาติ” ระบุ กทม.ไม่ใช่แค่ลอกท่อ-เก็บขยะ แต่ต้องทำให้ชีวิตคนดีขึ้น