วันนี้ (23 มี.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์ COVID-19
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 12-18 มี.ค.2565 สุ่มตรวจสายพันธุ์ COVID-19 จำนวน 1,981 คน ในจำนวนนี้มีสายพันธุ์เดลตา 1 คน นอกจากนั้นเป็นสายพันธุ์โอมิครอน (99.95%) เช่นเดียวกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและพบว่าติดเชื้อเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด
ทั้งนี้ สัดส่วนสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน คือ B.1.1.529 จำนวน 96 คน BA.1 จำนวน 406 คน BA.2 จำนวน 1,479 คน ยังไม่พบ BA.3 คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะพบสัดส่วนของ BA.2 มากขึ้น เนื่องจากแพร่เชื้อได้รวดเร็ว
นอกจากนี้ พบสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ในไทย 22 คน และ BA.2.3 จำนวน 61 คน ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีนของสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า "เดลตาครอน" เป็นไวรัสโควิดผสมระหว่างสายพันธุ์โอมิครอนและเดลตา เรียกว่าเป็นไฮบริด ระหว่างส่วนโปรตีนหนามสไปค์จากโอมิครอน (BA.1) และส่วนโปรตีนด้านหน้าซึ่งไวรัสใช้เพิ่มจำนวนเป็นของเดลตา (AY.4) เริ่มพบการแพร่ระบาดแล้วในฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมนี เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์
ขณะนี้มีรายงานข้อมูลใน GISAID ประมาณ 4,000 กว่าคน แต่ที่มีการยอมรับและยืนยันว่าเป็นเดลตาครอน มีจำนวน 64 คน ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าคน
ในจำนวน 4,000 กว่าคนที่ต้องรอผลวิเคราะห์เพิ่มเติมนั้น มีข้อมูลที่ไทยได้ส่งข้อมูลไป 73 คน แต่ขอประชาชนอย่ากังวล เพราะเมื่อเดลตาลดลง โอกาสที่จะมารวมกันแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง แต่หากเดลตาครอนเพิ่มเร็วขึ้นในอนาคตก็จะครองสัดส่วนสายพันธุ์แทนโอมิครอน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นแนวโน้มดังกล่าว อีกทั้งไม่มีข้อมูลความรุนแรง โดยขณะนี้จัดลำดับเป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ยังไม่ถึงขั้นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล